เทคนิคจำศัพท์ญี่ปุ่น แบบศัพท์ไม่สู้กลับ (ตอน 2)

     คราวก่อนได้พูดถึงเทคนิคจำศัพท์ญี่ปุ่น แบบศัพท์ไม่สู้กลับไปแล้วส่วนหนึ่ง ได้นำไปลองใช้กันบ้างไหมเอ่ย ครั้งนี้ผู้เขียนก็มีเทคนิคจำศัพท์ดี ๆ มาเสิร์ฟให้ทุกคนถึงที่อีกเช่นเคย ! แหม่... จะว่าไปแล้วช่วงนี้ก็ใกล้สอบ JLPT พอดี มาอ่านเทคนิคจำศัพท์กันสักนิด ก็น่าจะช่วยเพิ่มคะแนนพาร์ตคำศัพท์ของหลาย ๆ คนได้ไม่มากก็น้อยแหละนะ ไม่มัวพูดพร่ำทำเพลงแล้ว ไปดูกันดีกว่าว่าจะมีเทคนิคดี ๆ อะไรอีกบ้าง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 จำจากภาษาไทย ⇒ ภาษาญี่ปุ่น

     ปกติแล้วเวลาจะท่องจำศัพท์ใหม่ ๆ คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสที่ "คำนี้แปลว่าอะไรนะ ?" เช่น คำว่า 伝言 (เดงงน) มีความหมายว่า การฝากข้อความ จุดโฟกัสของเราจะไปอยู่ที่คำแปลภาษาไทยอย่าง "การฝากข้อความ" พอนานเข้าก็นึกศัพท์ภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่พอจำได้ราง ๆ ว่า "伝 (เดง) อะไรสักอย่าง" สาเหตุหลักที่ลืมคำศัพท์กันง่าย ๆ ก็มาจากการจำจากภาษาญี่ปุ่น → ภาษาไทย เนี่ยแหละ ทีนี้ลองเปลี่ยนจุดโฟกัสมาจำจากภาษาไทย → ภาษาญี่ปุ่น ดูบ้าง เช่น

การฝากข้อความ → 伝言 (เดงงน)

     เมื่อจุดโฟกัสไปอยู่ที่ภาษาญี่ปุ่น ก็จะทำให้จดจำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง ~

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

〇 อ่านออกเสียง

     เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่เหมาะแก่การจำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นมาก ๆ เพราะในภาษาญี่ปุ่นมีคำที่มีเสียงอ่านคล้ายกันอยู่เยอะ จำผิดนิดเดียวความหมายก็เปลี่ยน โดยเฉพาะคำศัพท์ที่มีเสียงขุ่นอย่าง「゙」(เตนเตน) และเสียงกึ่งขุ่นอย่าง「゜」(มารุ) เทคนิคนี้ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่อ่านออกเสียงช้า ๆ ชัด ๆ ทีละคำให้ติดหู สมองของเราก็จะซึมซับคำศัพท์นั้น ๆ ได้โดยปริยาย (อารมณ์เหมือนฟังประโยคเด็ดตามโฆษณาต่าง ๆ จนจำได้ขึ้นใจนั่นแหละ)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

〇 ใช้บัตรช่วยจำ

     ถ้าพูดถึง "บัตรช่วยจำ หรือ Flash Cards" สิ่งที่เป็นกิมมิกเลยก็คือ "พกพาสะดวก" และด้วยความที่พกพาไปไหนด้วยก็ได้ จะขึ้นรถลงเรือก็หยิบขึ้นมาอ่านได้สบาย ๆ ทำให้เรามีเวลาคลุกคลีกับคำศัพท์เหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ พอผ่านตาบ่อยเข้าก็เริ่มจำคำศัพท์เหล่านั้นได้โดยอัตโนมัตินั่นเอง ~

Tips ถ้าเริ่มจำคำศัพท์ในบัตรช่วยจำได้แล้ว ควรสลับบัตรช่วยจำก่อนอ่านอีกครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำที่ดียิ่งขึ้น !

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

     จบไปแล้วกับเทคนิคจำศัพท์ญี่ปุ่น แบบศัพท์ไม่สู้กลับ อย่างที่เคยบอกในคราวก่อนว่าการมีเทคนิคดี ๆ ก็เหมือนเป็นทางลัดที่ช่วยให้จำศัพท์ได้ดียิ่งขึ้น แน่นอนละว่าของพวกนี้ต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอ แต่ก็อย่าเคร่งเครียดมากจนเกินไป ขอเพียงแค่ค่อย ๆ จำด้วยความสนุก เท่านี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจำศัพท์แบบศัพท์ไม่สู้กลับแล้วละ : )

     และถ้าใครกำลังมองหา "บัตรคำศัพท์" ที่กะทัดรัด พกพาสะดวก หยิบอ่านได้ทุกที่ ทางสำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรมก็มีวางจำหน่ายด้วยเหมือนกันนะ สำหรับใครที่สนใจก็สามารถกดสั่งจากเว็บไซต์ tpabook.com ได้เลย ~

ทิพยญาดา ทรัพย์เอนก TPA Press