เปิดเทคนิค (ไม่) ลับ ! จำไวยากรณ์ญี่ปุ่นยังไงให้เข้าหัว

     ถ้าพูดถึงหนึ่งในสิ่งที่เป็นปัญหากับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้น "ไวยากรณ์" ที่นอกจากเยอะเกินเรื่องเกินราวแล้ว การเชื่อมไวยากรณ์และข้อควรระวังในการใช้ไวยากรณ์แต่ละตัว ก็ซับซ้อนชวนสับสนจนน่าปวดหัวเข้าไปใหญ่... ว่าแต่จะจำไวยากรณ์ทั้งหมดยังไงให้เข้าหัวดีละทีนี้ ? J-Learning Tips & Tricks ในครั้งนี้มีคำตอบค่ะ :)

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1. ทำความเข้าใจประโยคตัวอย่าง

     เวลาอ่านไวยากรณ์ญี่ปุ่น นอกจากจะต้องทำความเข้าใจว่าไวยากรณ์นั้น ๆ มีความหมายว่าอะไรและมีวิธีการเชื่อมยังไงแล้ว "ประโยคตัวอย่าง" ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะประโยคตัวอย่างจะช่วยให้เราเห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้นว่าไวยากรณ์นั้น ๆ ควรใช้ในสถานการณ์ไหนหรือสามารถใช้คู่กับคำกริยาตัวไหนได้บ้าง ซึ่งการสังเกตและทำความเข้าใจวิธีใช้ไวยากรณ์ที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีกระหว่างอ่านประโยคตัวอย่างนี่แหละค่ะจะช่วยให้จดจำไวยากรณ์ที่เรียนไปได้เป็นอย่างดี

     แอบบอกกันสักนิด ข้อสอบ JLPT มักออกคล้ายกับประโยคตัวอย่างในหนังสือแทบทุกปี ถ้าเข้าใจประโยคตัวอย่างได้ รับรองว่าคะแนนพาร์ตไวยากรณ์จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน !

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. บันทึกหัวข้อไวยากรณ์ที่อ่านแล้วทุกครั้ง

     ทุกครั้งที่อ่านไวยากรณ์จบแล้ว อยากให้ทุกคนลองบันทึก "หัวข้อไวยากรณ์" ลงในสมุดเล่มเล็ก ๆ โดยไม่ลงรายละเอียดว่าไวยากรณ์ตัวนี้มีความหมายว่าอะไรหรือมีวิธีการเชื่อมยังไงดูค่ะ หลังจากนั้นปล่อยสมองให้โล่งสัก 2-3 วัน แล้วค่อยกลับมาทบทวนอีกครั้ง

     ระหว่างที่ทบทวนไวยากรณ์หลังจากพักสมองมาแล้ว เราจะสามารถประเมินความเข้าใจของตัวเองคร่าว ๆ ได้ว่ามีไวยากรณ์ตัวไหนบ้างที่เราเข้าใจแล้ว ยังไม่ค่อยเข้าใจ รวมถึงไวยากรณ์ตัวไหนที่จำไม่ได้เลย วิธีนี้นอกจากจะช่วยทบทวนไวยากรณ์ที่เคยเรียนมาแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้จดจำไวยากรณ์ที่เคยหลงลืมไปได้ดีเลยทีเดียว

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. จัดกลุ่มไวยากรณ์ที่คล้ายกัน

     ใครที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาบ้างคงรู้กันดีว่า ไวยากรณ์ญี่ปุ่นมักมีหน้าตาคล้ายกันอยู่เยอะ (มาก) ทำให้หลายคนจำสลับสับสนจนใช้ผิดไปตาม ๆ กัน...ปัญหาก็คือแล้วเรา ควรจำยังไงไม่ให้สับสน

     จริง ๆ แล้ว "การจัดกลุ่มไวยากรณ์ที่คล้ายกัน" ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็ว่าได้ค่ะ เพราะนอกจากจะช่วยจำแนกให้เห็นถึงความต่างของไวยากรณ์แต่ละตัวแล้ว ยังช่วยจัดระเบียบความคิดไม่ให้สับสนกับไวยากรณ์ที่คล้ายกันอีกด้วย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

     แม้ไวยากรณ์ญี่ปุ่นอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน แต่ถ้าทุกคนพยายามทำความเข้าใจกับไวยากรณ์ดูสักตั้งและลองนำเทคนิคข้างต้นมาใช้กันดูสักนิดละก็ เชื่อเถอะว่าไวยากรณ์ญี่ปุ่นจะไม่ยากอย่างที่คิด...เผลอ ๆ ง่ายกว่าที่คิด ด้วย ~

     และถ้าใครกำลังมองหาหนังสือไวยากรณ์ญี่ปุ่นดี ๆ อยู่ละก็ ทางสำนักพิมพ์ขอแนะนำหนังสือซีรีส์ "Go! JLPT ไวยากรณ์" ที่รวบรวมไวยากรณ์พร้อมกับคำอธิบายสุดละเอียดไว้ในเล่มเดียว จะใช้อ่านสอบ JLPT ก็ได้ หรือจะใช้อ่านทบทวนไวยากรณ์เพลิน ๆ ก็ดี ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อจากเว็บไซต์ tpabook.com ได้เลยจ้า

ทิพยญาดา ทรัพย์เอนก TPA Press