โอเทดามะ...มาเล่นหมากเก็บญี่ปุ่นกันเถอะ
 

        วันนี้จะมาดักแก่ เอ้ย ! พามาย้อนวัยกับการละเล่นสุดฮิตของกลุ่มสาวน้อยวัยประถม-มัธยม (เมื่อประมาณ 10-20 ปี จนถึงหลายสิบปีที่แล้ว) ที่มีชื่อว่า "หมากเก็บ" กันสักหน่อย ไม่รู้ว่าเด็ก ๆ สมัยนี้เมื่อได้ยินคำว่าหมากเก็บแล้วจะงงกันหรือเปล่าว่าคืออะไร ถ้าหากสงสัยก็ลองถามคุณแม่หรือพี่ ๆ ญาติ ๆ (ผู้ใหญ่) ดู รับรองว่ารู้จักดีอย่างแน่นอน หรือไม่ก็เซิร์ชจาก “อากู๋” มิตรแท้ของทุกเพศทุกวัยก็จะได้คำตอบเช่นกัน

        ประเทศไทยนั้น แรกเริ่มเดิมทีเวลาเล่นหมากเก็บจะใช้หินกรวดเป็นอุปกรณ์ในการเล่น ต่อมาก็ใช้โซ่พลาสติกของเล่นสีสันสดใสซองละไม่กี่บาทมาร้อยต่อกันแล้วรวบให้เป็นลูกกลม ๆ ขนาดพอดีมือ ก็จะได้หมากเก็บสีสวยและมีน้ำหนักเบามาเล่นแทน เอาละ เกริ่น ๆ ให้พอนึกถึงช่วงวันวานยังหวานอยู่ไปแล้ว ทีนี้ก็มาแนะนำให้รู้จักหมากเก็บเชื้อสายญี่ปุ่นกันบ้าง อ่านไม่ผิดนะจ๊ะ ญี่ปุ่นเองก็มีหมากเก็บเล่นเหมือนกันเนะ ! ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้เล่นหมากเก็บญี่ปุ่นนั้นเรียกว่า "โอเทดามะ" (お手玉 otedama) จ้า

 

 photo 01_otedama_zps8tn6gsy9.jpg
ขอบคุณรูปภาพจาก - https://tetote-market.jp/creator/tyumika/xa2135762890/
 

        ว่ากันว่าการละเล่นนี้เริ่มขึ้นมาในสมัยนาระ โดยได้รับมาจากจีนอีกที แรกเริ่มจะใช้หินกรวดในการเล่นเช่นกัน ต่อมาในสมัยเอโดะก็เปลี่ยนมาใช้ผ้าเย็บติดกันเป็นรูปแบบต่าง ๆ แล้วนำเมล็ดธัญพืช ถั่ว หรือลูกปัดใส่ไว้ด้านใน ก่อนจะเย็บปิดแล้วนำมาเล่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการละเล่นนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่เด็กผู้หญิง เนื่องจากได้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลินยังเป็นการฝึกทักษะเย็บปักถักร้อยและมารยาทการนั่งแบบญี่ปุ่นอีกด้วย (การเล่นโอเทดามะในสมัยก่อนจะต้องนั่งทับส้นเท้าให้เรียบร้อย)

        วิธีการเล่นโอเทดามะมีหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ความชอบและความถนัดของแต่ละคน มีทั้งแบบโยนรับสลับมือซ้ายขวาไปมา แบบโยนอันหนึ่งขึ้นเหนือพื้นแล้วเก็บอันที่อยู่กับพื้นขึ้นมาก่อนรับอันที่โยนขึ้นไปให้ทัน (เหมือนการเล่นหมากเก็บของไทย) แบบโยนขึ้นแล้วใช้หลังมือรับ แบบสลับกันโยนรับกับเพื่อน ฯลฯ โดยจะเริ่มเล่นตั้งแต่ระดับง่าย ๆ ไปสู่ระดับที่ยากขึ้น หรือแม้แต่นำมาใช้โยนลงกระดาษที่เขียนจำนวนแต้มซึ่งกางไว้บนพื้นเพื่อแข่งกันว่าใครจะได้แต้มเยอะที่สุดก็มี นับได้ว่าเป็นของเล่นที่นำมาเล่นได้อย่างหลากหลายวิธีจริง ๆ
 

 photo 02_otedama_line_zpsu6bv6ows.jpg
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://www.fumira.jp/cut/hoikuen/file542.htm
 

        ปัจจุบันรูปแบบของโอเทดามะที่นิยมทำออกมามีประมาณ 5 รูปแบบ แต่ละแบบก็มีความสวยงามแตกต่างกันไป นั่นคือ
 

 photo 03_tawara_zpsfcguskh6.jpg

แบบ ทาวาระ (たわら形 tawara katachi)
ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.goo.ne.jp/green/column/kurashinista-20161027_2000001170.html

 

 photo 04_kamasu_zpsfhrxbcvp.jpg

แบบ คามาสุ (かます形 kamasu katachi)
ขอบคุณรูปภาพจาก - https://nanapi.com/ja/99467

 

 photo 05_makura_zpshkvoojma.jpg

แบบ มาคุระ (まくら形 makura katachi)
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://item.rakuten.co.jp/1ban-otoku/m-ote/

 

 photo 06_sabuton_zpszumimsvh.jpg

แบบ ซาบุตง (さぶとん形 sabuton katachi)
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://toawasai.jp/hana-blog/sp/2015/09/post-38.html

 

 photo 07_Houzuki_zpss56lixby.jpg

แบบ โฮซุกิ (ほうずき形  houzuki katachi)
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://www.swany.jp/shopdetail/000000009930/
 

        นอกจากนี้ก็ยังมีการทำโอเทดามะเป็นรูปตัวการ์ตูนต่าง ๆ ด้วย แต่พอเห็นแล้วก็รู้สึกว่าน่ารักเกินไป เหมาะจะเก็บไว้ดูเล่นเฉย ๆ มากกว่าเอามาโยนเล่นซะอีก
 

 photo 08_new_zpsifgytohk.jpg
ขอบคุณรูปภาพจาก
https://store.shopping.yahoo.co.jp/cinemacollection/sab-087416-61.html

 

        โอเทดามะในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นที่นิยมกันในหมู่เด็กผู้หญิงเท่านั้น เนื่องจากมีการตั้งขอสังเกตว่า การเล่นโอเทดามะมีส่วนช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย จึงมีผู้คนหันมาสนใจเล่นโอเทดามะกันมากขึ้น รู้แบบนี้แล้ว เรามาพักสายตาจากหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วลองทำโอเทดามะเล่นกันก็คงจะดูน่าสนใจดีนะ

สุธินี เทียนกุล TPA Press