มารู้จักตุ๊กตาญี่ปุ่นกันเถอะ


        สำหรับคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นคงจะทราบดีว่า ภาษาญี่ปุ่นเรียกเดือนมีนาคมว่า 三月 (さんがつ) แปลว่า เดือนสาม แต่รู้หรือไหมว่าอีกชื่อหนึ่งของเดือนมีนาคมคือ 弥生 (やよい) ซึ่งมีความหมายว่า "ถึงเวลาที่ต้นไม้ใบใหญ่จะงอกงามแล้ว" นั่นเพราะว่า ช่วงเดือนมีนาคมที่ญี่ปุ่นถือเป็นช่วงเวลาผลัดจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และพิธีเฉลิมฉลองสำคัญในเดือนนี้คือ "ฮินะมัทสึริ" หรือ "เทศกาลตุ๊กตา" ที่จะจัดขึ้นในวันเด็กผู้หญิงซึ่งตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปีนั่นเอง แต่ไม่ได้จะมาเล่าถึงประวัติความเป็นมาของเทศกาลนี้หรอกนะ เพราะคิดว่าผู้อ่านคงจะได้อ่านกันเยอะแล้ว จะพาไปรู้จักกับ "หัวใจ" หลักของเทศกาลนี้กันดีกว่า ใช่แล้ว..."ตุ๊กตาญี่ปุ่น" นั่นเอง

        คำว่า "ตุ๊กตา" ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 人形 (にんぎょう) 
ซึ่งจะหมายถึง ตุ๊กตาที่มีรูปร่างคล้ายคน มีการทำผมและสวมใส่เสื้อผ้าเลียนแบบมนุษย์ ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้เองที่นำมาใช้แบ่งแยกฐานะและอาชีพของตุ๊กตา เช่น 姫君 (ひめぎみ - ตุ๊กตาเจ้าหญิง) 町娘 (まちむすめ - ตุ๊กตาสาวชาวเมือง) หรือ 舞妓 (まいこ - ตุ๊กตาเกอิชาฝึกหัด) เป็นต้น สำหรับคนญี่ปุ่น ตุ๊กตาไม่ได้เป็นแค่ของประดับตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามเท่านั้น บางคนเชื่อว่าตุ๊กตาที่มีลักษณะคล้ายคนนี้เป็นเสมือนตัวแทนรับเคราะห์ร้ายและเหตุเภทภัยต่าง ๆ ของผู้เป็นเจ้าของอีกด้วย และในสมัยเอโดะ ตุ๊กตายังถือเป็นหนึ่งในของใช้ของเจ้าสาวในพิธีแต่งงานอีกต่างหาก ซึ่งการใช้ในลักษณะดังกล่าวก็ยังมีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

        เอาละ...รู้จักที่มาและความสำคัญของตุ๊กตาญี่ปุ่นไปพอสมควรแล้ว คราวนี้เราลองมาทำความรู้จักกับตุ๊กตาญี่ปุ่นแต่ละประเภทกันดีกว่า ในที่นี้ขอเลือกเฉพาะประเภทที่สำคัญและนิยมมาแนะนำกัน

        ตุ๊กตาตัวแรกที่จะแนะนำให้รู้จักคือ 市松人形 (いちまつにんぎょう) หรือ ตุ๊กตาอิชิมัทสึ เป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่จะทำออกมาเป็นรูปเด็กผู้หญิงญี่ปุ่นมากกว่า ส่วนหัว มือ และเท้าทำจากไม้ ทาด้วยฝุ่นแป้งสีขาว ใครที่นึกไม่ออกให้นึกถึงตุ๊กตาเด็กผู้หญิงหน้าขาว ๆ ผมดำยาว ๆ ใส่ชุดกิโมโนที่เห็นในหนังผีญี่ปุ่น นั่นแหละ...คือ ตุ๊กตาอิชิมัทสึละ ตุ๊กตาชนิดนี้คือของเล่นของเด็กญี่ปุ่นทั่วไป ตั้งชื่อตามนักแสดงคาบุกิผู้มีชื่อเสียงในสมัยเอโดะนามว่า 佐野川市松 (さのかわいちまつ - ซาโนกาวะ อิชิมัทสึ) ถ้าเป็นในแถบเกียวโตและโอซาก้าจะเรียกตุ๊กตาชนิดนี้เล่น ๆ ว่า "อิชิมะซัง"
 

 photo doll01_zps5f057d85.jpg


        ตุ๊กตาตัวถัดมาคือ 木目込み人形 (きめこみにんぎょう) หรือก็คือ ตุ๊กตาคิเมโกมิ เป็นตุ๊กตาไม้ชนิดหนึ่ง เสื้อผ้าอาภรณ์ที่ประดับอยู่บนตุ๊กตาชนิดนี้ดูผิวเผินเหมือนเป็นการตัดเย็บและนำมาสวมทับลงบนตัวตุ๊กตา แต่ที่จริงแล้วเวลาทำตุ๊กตาชนิดนี้จะแกะเป็นโครงแบบของเสื้อผ้าที่สวมใส่ รวมไปถึงรอยพับของเสื้อผ้าเอาไว้เลย แล้วค่อยนำผ้าจริงซึ่งเป็นลวดลายต่าง ๆ มาติดทับอีกทีหนึ่ง ส่วนชายผ้าก็จะใช้มีดแกะสลักเก็บซ่อนไปตามร่องของไม้ที่แกะเอาไว้ ซึ่งจากขั้นตอนดังกล่าวจึงทำให้เรียกตุ๊กตาชนิดนี้ว่า "คิเมโกมิ" (การเอาเข้าไปในร่องไม้) ตุ๊กตาฮินะที่ใช้จัดบนหิ้งในเทศกาลวันเด็กผู้หญิง ก็เป็นตุ๊กตาประเภทนี้เหมือนกัน
 

 photo img_header_zps30fd2d2d.jpg


ขอบคุณภาพจาก www.isshu-hina.com


        ตุ๊กตาตัวที่ 3 ที่จะพูดถึงคือ 博多人形(はかたにんぎょう) ตุ๊กตาฮากาตะนี้ดูเผิน ๆ อาจจะดูคล้ายตุ๊กตาคิเมโกมิ แต่ทำจากวัสดุที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะตุ๊กตาฮากาตะทำมาจากดินเหนียว เป็นของพื้นเมืองขึ้นชื่อของเมืองฮากาตะ จังหวัดฟุกุโอกะ โดยเมื่อปั้นตุ๊กตาขึ้นมาแล้วจะนำไปเผา แล้วค่อยนำมาลงสีสันต่าง ๆ ลักษณะของตุ๊กตาจะปั้นเป็นเด็กบ้าง ผู้ใหญ่บ้าง นักแสดงละครคาบุกิ หรือซูโม่ก็มี ซึ่งแม้ว่าวัสดุที่นำมาทำจะต่างจากตุ๊กตาคิเมโกมิ แต่ความประณีตพิถีพิถันในการลงสีไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

        มาถึงตุ๊กตาประเภทสุดท้าย เป็นตุ๊กตาที่มีรูปแบบง่าย ๆ แต่น่ารัก นั่นก็คือ こけし人形 (こけしにんぎょう) คือ ตุ๊กตาโคเคชิ ทำจากไม้ เป็นตุ๊กตาท้องถิ่นของทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ส่วนหัวจะกลม ซึ่งมักจะวาดเป็นรูปหน้าเด็กผู้หญิง ส่วนลำตัวเป็นทรงกระบอกและวาดลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้หรือลายเส้น 2-3 สี ซึ่งลักษณะของตุ๊กตาโคเคชินั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่
 

 photo x-kmg3_zps454cafa5.jpg


ขอบคุณภาพจาก blogs.yahoo.co.jp


        สุดท้ายนี้ ขอเอาใจสำหรับคนชอบตุ๊กตากันหน่อย อย่างที่เราทราบกันดีว่าที่ญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เต็มไปหมด ถ้าใครที่อ่านเกร็ดความรู้นี้แล้วยังอยากรู้เรื่องราวของตุ๊กตาญี่ปุ่นมากขึ้นไปอีก แนะนำว่าถ้ามีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่นก็อย่าลืมแวะไปเที่ยวที่ Yokohama Doll Museum ด้วยนะ เพราะที่นี่นอกจากจะรวบรวมตุ๊กตาญี่ปุ่นไว้หลากหลายประเภทแล้ว ยังมีตุ๊กตาต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกให้คนรักตุ๊กตาได้ตื่นตาตื่นใจอีกด้วย ค่าเข้าชมผู้ใหญ่เพียงแค่ 300 เยน และเด็กคนละ 150  เยนเท่านั้นจ้า


อนิล พยุงเกียรติคุณ TPA Press