ปลามังกร สัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง !?


        ปลาอโรวาน่า (Arowana) หรือที่คนไทยเรียกกันจนติดปากสั้น ๆ ว่า “ปลามังกร” นับว่าเป็นปลาอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนนิยมเลี้ยงกันมากที่สุด เพราะนอกจากความสวยงามของตัวปลาแล้วยังมีความเชื่อที่ว่า การเลี้ยงปลามังกรจะช่วยให้มีความร่ำรวยมั่งคั่ง กิจการรุ่งเรือง นอกจากนี้ ปลามังกรจะมีท่าทางการว่ายน้ำที่สง่างามและวนกลับไปมาในทิศทางเดิมในลักษณะสัญลักษณ์ “หยินหยาง” ซึ่งหมายถึง ความสมดุลในชีวิต นั่นเอง ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีคนนิยมเลี้ยงปลาอโรวาน่าเช่นเดียวกัน โดยเรียกทับศัพท์ว่า アロワナ (อาโรวานะ) ส่วนประเทศจีนเองก็นิยมไม่แพ้กัน โดยจะเรียกว่า 龙鱼 (หลงหยวี) ซึ่งตรงตัวว่า ปลามังกร เหมือนที่คนไทยเรียกกัน

* หมายเหตุ : ภาษาจีนมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกปลาอโรวาน่าอีกคำคือ 骨舌鱼科 (กู่เสอหยวีเคอ) ซึ่งหมายถึง สายพันธุ์หรือปลาตระกูลอโรวาน่ารวม ๆ ทั้งหมด (แปลตรงตัวว่า “ปลาลิ้นกระดูก”)
 

 photo E1B0E250E320E210E310E070E010E230E210E320E010E210E320E220_zpsf26d40e2.jpg


ขอบคุณภาพจาก : www.time4fish.net


        ปลาอโรวาน่าสามารถแบ่งตามทวีปที่พบได้ 4 ทวีป ได้แก่ 1. อโรวาน่าจากทวีปเอเชีย จัดเป็นปลาอโรวาน่าที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักเลี้ยงปลา รูปร่างจะออกไปทางป้อมสั้น ลักษณะการว่ายดูสง่างาม นอกจากนี้ยังเป็นชนิดที่มีราคาแพงที่สุด เนื่องจากสีสันสวยงาม เช่น สีทอง สีแดง ซึ่งจำแนกได้อีก 4 ชนิด ได้แก่ อโรวาน่าทองมาเลย์ อโรวาน่าแดง อโรวาน่าทองอินโดนีเซีย และอโรวาน่าเขียว ภายหลังมีการผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อดึงจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์ออกมา ทำให้มีชื่อเรียกแตกแขนงไปอีกมาก 2. อโรวาน่าจากทวีปอเมริกาใต้ มี 3 ชนิด ได้แก่ อโรวาน่าเงิน อโรวาน่าดำ และอะราไพม่า หรือที่บ้านเราเรียกว่า “ปลาช่อนอะเมซอน” ชาวพื้นเมืองมักเรียกปลามังกรชนิดนี้ว่า “ลิงน้ำ” เนื่องจากลักษณะการกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำเพื่อกินแมลงที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ 3. อโรวาน่าจากทวีปแอฟริกา และ 4. อโรวาน่าจากทวีปออสเตรเลีย

        ทั้งนี้ ปลาอโรวาน่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตส (
CITES) จึงจัดอยู่ในหมวดสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดเพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มตรองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีผลให้ผู้ที่เลี้ยงปลาดังกล่าวหรือมีไว้ในครอบครองจำเป็นต้องขอรับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง ต่อมา ปลาอโรวาน่าสามารถเพาะพันธุ์ในฟาร์มได้เป็นจำนวนมากทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง ทำให้มีผู้เลี้ยงมากขึ้น การตรวจสอบต่าง ๆ ของทางการจึงลดความเข้มข้นลงไปนั่นเอง
 

 photo E430E1A0E400E0B0E2D0E230E4C0_zps5adb04b6.jpg


ตัวอย่างใบรับรองสายพันธุ์
ขอบคุณภาพจาก
www.aro4u.com


         อย่างไรก็ตาม การเพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าให้ถูกต้องจะต้องมีการออกใบรับรองสายพันธุ์ (Certificate of Guarantee) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ใบเซอร์” เพื่อระบุแหล่งที่มาของปลา และชื่อฟาร์มผู้เพาะพันธุ์ตัวนั้น ๆ นั่นเอง โดยหมายเลขในใบเซอร์จะต้องตรงกับหมายเลขชิปที่ฝังในตัวปลา ซึ่งวิธีตรวจสอบว่าตรงกันหรือไม่จะใช้เครื่องสแกนทำการสแกนที่ตัวปลาบริเวณที่ฝังชิปเพื่อแสดงตัวเลขดังกล่าวออกมา
 

 photo E400E040E230E370E480E2D0E070E2A0E410E010E190E0A0E340E1B0_zpsa3238662.jpg


ตัวอย่างเครื่องสแกนชิปที่ฝังในตัวปลา
ขอบคุณภาพจาก
www.animalguard.ie


เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press