เทศกาลฮานามิ


        เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มานานไม่ต่ำกว่า 1,400 ปี คือตั้งแต่ยุคสมัยนารา (คศ.710-784) ในบันทึกบทกลอนที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Manyoushuu (万葉集) ซึ่งถูกเขียนขึ้นในปี คศ.759 อันเป็นยุคสมัยที่ญี่ปุ่นยังคงอิงอยู่กับวัฒนธรรมจากประเทศจีน ในบันทึกนี้ได้รวบรวมบทกลอนย้อนหลังในอดีตประมาณ 400 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 4,500 บท ในจำนวนนี้ มีบทกลอนที่เกี่ยวกับดอกเหมยและดอกซากุระ อยู่ประมาณ 140 กว่าบท โดยเป็นบทกลอนเกี่ยวกับดอกเหมยประมาณ 100 บท และบทกลอนเกี่ยวกับดอกซากุระ ประมาณ 40 บท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การชมดอกไม้ในสมัยนั้น เป็นการชมดอกเหมยเป็นหลัก ตามประเพณีที่สืบทอดมาจากประเทศจีน

        ต่อมาในสมัยเฮอัน (คศ.794-1185) ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มวางรากฐานทางประเพณีและวัฒนธรรมของตนเอง ประเพณีการชมดอกไม้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดอกเหมยเป็นดอกไม้ที่เริ่มบานในช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นช่วงที่ยังคงมีอากาศหนาวอยู่ แต่ดอกซากุระ จะบานช้ากว่า คือบานในช่วงที่อากาศอบอุ่นขึ้นแล้ว จึงสามารถสัมผัสถึงการมาเยือนของฤดูใบไม้ผลิได้อย่างชัดเจน เหมาะต่อการจัดงานเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลองเทพเจ้า ที่ดลบันดาลให้ฤดูใบไม้ผลิ เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง

        นอกจากนี้ ซากุระยังเป็นต้นไม้ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ดอกไม้มีสีสรรที่สวยงาม ในยามที่ดอกไม้บาน ก็จะบานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้น แต่ก็จะร่วงโรยลาในเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ จึงถูกนำมาเปรียบกับความที่ไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตมนุษย์

        การชมดอกไม้ในยุคสมัยเฮอัน จึงเปลี่ยนจากดอกเหมยมาเป็นดอกซากุระแทน

        ในยุคสมัยเฮอันนี้ มีบันทึกบทกลอน เรียกว่า kokin waka shuu (古今和歌集) ซึ่งประพันธ์ขึ้นในปี คศ.905-913 โดยเป็นบทกลอนที่ชาวญี่ปุ่นประพันธ์ขึ้นบนวัฒนธรรมของตนเองทั้งหมด รวมประมาณ 1,100 บท ซึ่งในบันทึกบทกลอนนี้ หากกล่าวถึงคำว่า "ดอกไม้" เมื่อใด ก็จะหมายถึง "ดอกซากุระ" ทุกครั้งไป

 photo hanami-2_zpseb4883c7.jpg


        การจัดงานฮานามิในยุคสมัยเฮอัน จะเป็นลักษณะของงานเทศกาลหรืองานพิธี คือมีการจัดเตรียมอาหาร และมีการแสดงหรือการฟ้อนรำบนเวทีควบคู่ไปด้วย ซึ่งงานพิธีเหล่านี้ก็ยังคงมีหลงเหลือสืบทอดมาถึงปัจจุบันอยู่บ้างเช่นกัน แต่สำหรับการจัดงานแบบชาวบ้าน คือการนัดหมายกันไปกินเลี้ยงรื่นเริง เพื่อชมความสวยงามของดอกซากุระนั้น เพิ่งจะแพร่หลายในยุคสมัยเอโดะ ในสมัยของโชกุนลำดับที่ 8 คือ Tokugawa Yoshimune (คศ.1684-1751) นี่เอง

        ที่มา คำว่า ซากุระ มีหลายทฤษฎี ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นกล่าวไว้ว่า [sa] เป็นภาษาเก่า หมายถึงดวงวิญญาณของธัญพืช ส่วน [kura] หมายถึงสถานที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้า ซากุระจึงความหมายถึง สถานที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้าแห่งธัญพืช หรือ「saku」มาจากคำว่า「咲く」ซึ่งแปลว่าดอกไม้บาน ส่วน「ra」หมายถึงสิ่งเป็นจำนวนมาก ซากุระจึงหมายถึง ต้นไม้ที่มีดอกไม้บานสะพรั่งพร้อมกันเป็นจำนวนมาก หรืออีกทฤษฎีหนึ่งคือ มาจากชื่อของเจ้าหญิงในเทพนิยาย konohana no saku ya hime ที่จะเสด็จลงมาจากยอดเขาฟูจิเพื่อบันดาลให้ดอกไม้บาน โดยตัดมาเฉพาะคำว่า sakuya และเพี้ยนเสียงเป็น sakura

        ซากุระเป็นต้นไม้ที่มีมาแต่ดั้งเดิมในประเทศญี่ปุ่น มีทั้งสิ้นมากกว่า 600 ชนิด นอกจากจะออกดอกสีชมพูแล้ว ยังมีพันธุ์ที่ออกดอกสีขาว สีแดงอ่อน สีแดงเข้ม นานาชนิดอีกด้วย
       การชมซากุระในสมัยโบราณ มักจะเป็นพันธุ์ higan sakura ซึ่งมีสีแดงอ่อน ซึ่งจะเริ่มบานในช่วงปลายเดือนมีนาคม

        แต่ในปลายสมัยเอโดะได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น เรียกว่าพันธุ์ somei yoshino ซึ่งมีสีชมพู ค่อนข้างออกไปทางสีขาว ซึ่งจะเริ่มบานในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยโชกุน Tokugawa Yoshimune ได้สั่งให้ปลูกต้นซากุระ เพื่อจัดผังเมือง และป้องกันภัยทางน้ำในเมืองเอโดะ จึงเป็นสาเหตุให้กรุงโตเกียว มีแหล่งชมซากุระที่สวยงามหลายแห่ง ทั้งๆที่มีพื้นที่จำกัดกว่าในจังหวัดอื่น ซึ่งต่อมา ซากุระสายพันธุ์นี้ ได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศในสมัยราชวงศ์เมจิ


เครดิต : http://www.j-campus.com/