20+ 成人の日


        ที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก จึงมีวันสำคัญต่าง ๆ อาทิ วันเด็กผู้ชาย วันเด็กผู้หญิง จนกระทั่งเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็ยังมีวันเฉลิมฉลองเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ วันบรรลุนิติภาวะ (成人の日 Seijin no Hi) ซึ่งตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี โดยถือเป็นวันหยุดราชการด้วย ทำให้กลายเป็นวันหยุดต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกัน เสาร์ อาทิตย์ จันทร์ จึงนิยมเรียกช่วงวันหยุดนี้ว่า ซูเปอร์มันเดย์ เพราะเป็นวันหยุดแรกของปีหลังจากเทศกาลปีใหม่
 

 photo 20_1_zpsexeljqwi.jpg


ขอบคุณรูปภาพจาก - http://drg-401.com/works/


        วันบรรลุนิติภาวะมีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ในสมัยนั้นจะเรียกพิธีบรรลุนิติภาวะนี้ว่า เกมปุกุ (元服 Genpuku) และมีการพัฒนารูปแบบและพิธีการเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 1948 ได้กำหนดวันบรรลุนิติภาวะอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดเป็นวันที่ 15 มกราคม ของทุกปี ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมในปี 2000 เป็นต้นมา 
 

 photo 20_2_zpsylbb16lh.jpg


พิธี เกนปูกุ ในสมัยก่อน
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://www.baike.com/wiki/%25E5%2585%2583%25E6%259C%258D


        ในวันบรรลุนิติภาวะนี้ หน่วยงานต่าง ๆ มักจะจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรและให้โอวาทถึงสิ่งที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งแก่ผู้บรรลุนิติภาวะที่มีอายุครบ 20 ปี ในรอบปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นก็ยังมีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องมาฟังคำกล่าวแสดงความเป็นผู้ใหญ่ของลูก ๆ หลาน ๆ ด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งพิธีดังกล่าวนี้จะเรียกว่า เซจินชิกิ (成人式 Seijin Shiki) 
 

 photo 20_3_zpsf8aulkvo.jpg


ขอบคุณรูปภาพจาก - http://matome.naver.jp/odai/2138959642499997001


        วันบรรลุนิติภาวะถือว่าเป็นอีกวันที่สาว ๆ ชาวญี่ปุ่นเฝ้ารอคอย เพราะจะได้สวมชุดกิโมโนสำหรับเฉลิมฉลองการบรรลุนิติภาวะ โดยชุดกิโมโนที่ว่านี้จะมีลักษณะเป็นกิโมโนแขนปล่อยชายยาวที่เรียกกันว่า ฟุริโซเดะ (振袖 Furisode) นอกจากนั้นยังแต่งหน้าทำผมกันแบบจัดเต็ม และมักนิยมไปถ่ายรูปตามสตูดิโอเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึก สำหรับผู้ชายมักนิยมใส่ชุดสูทเป็นส่วนใหญ่ อาจมีแต่งชุดกิโมโนสำหรับผู้ชายบ้าง ทั้งนี้ พิธีบรรลุนิติภาวะในระยะหลัง ๆ มักจะมีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ร่วมงานมักจะเฉลิมฉลองด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสามารถซื้อและดื่มได้อย่างถูกกฎหมาย (ที่ญี่ปุ่นห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์) และส่งเสียงดังสร้างความวุ่นวายภายในงาน จนบางครั้งก็มีการกระทบกระทั่งกัน ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายในระหว่างดำเนินพิธีการ จึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า พิธีฉลองการบรรลุนิติภาวะยังมีความจำเป็นและควรจัดต่อไปทุกปีหรือไม่
 

 photo 20_4_zpsj0g8qhbt.jpg


ขอบคุณรูปภาพจาก - http://blog.livedoor.jp/kamebugofukuten/archives/2057085.html


เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press

ขอบคุณภาพ Thumbnail จาก - http://www.wheniscalendars.com/jp/wp-content/uploads/2015/11/seijinnnohi.jpg