3 เคล็ดลับที่ช่วยให้เก่งภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น
เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมบางคนถึงเก่งภาษาญี่ปุ่นราวกับกินวุ้นแปลภาษามาตั้งแต่เกิด ส่วนตัวผู้เขียนเคยมีโอกาสพูดคุยเรื่องเทคนิคการเรียนภาษาญี่ปุ่นกับเพื่อนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นมาก ๆ (เหมือนกินวุ้นแปลภาษาอย่างว่าจริง ๆ) ก็ได้ความมาว่า นอกจากการอ่านหนังสือแล้ว พวกเขายังมี "เคล็ดลับ" ในการเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย ! J-Learning Tips & Tricks ในครั้งนี้เลยรวบรวม 3 เคล็ดลับที่เหล่าคนเก่งภาษาญี่ปุ่นทำแล้วเวิร์กจริง ปังจริง มาฝากทุกคนกันจ้า
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
1. เปลี่ยนภาษาหลักในโทรศัพท์เป็นภาษาญี่ปุ่น
การเปลี่ยนภาษาในโทรศัพท์อาจจะดูโหดร้ายไปสักนิดสำหรับคนที่เพิ่งเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่เทคนิคนี้จะช่วยบังคับตัวเองให้พยายามคิด วิเคราะห์ คาดเดา เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า (อารมณ์เหมือนจำลองการใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นนั่นแหละค่ะ) เมื่อสิ่งที่เรียนรู้นั้นมาจากความพยายามของตัวเอง เราก็จะยิ่งจดจำความรู้เหล่านั้นได้แม่นยำขึ้นใจ
พอใช้ภาษาในโทรศัพท์เป็นภาษาญี่ปุ่นไปเรื่อย ๆ เราจะเริ่มคุ้นชินมากขึ้น และไม่รู้สึกวิงเวียนเมื่อต้องเผชิญกับภาษาญี่ปุ่นที่เยอะจนตาลาย อย่างเช่น การสอบ JLPT นั่นเองค่ะ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
2. เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นจากสิ่งรอบตัว
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้เราสามารถเจอภาษาญี่ปุ่นได้บ่อยกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นฉลากบนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ หรือแม้แต่โลโก้ชานมไข่มุกบางร้านก็ยังมีภาษาญี่ปุ่นให้เห็นกันอยู่จนคุ้นตา มองผิวเผินหลายคนอาจคิดว่า "ก็แค่ภาษาญี่ปุ่นปะแก..." แล้วปล่อยผ่านไป แต่ ! คนเก่งภาษาญี่ปุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้นค่ะ เพราะการเจอภาษาญี่ปุ่นรอบตัวถือเป็นโอกาสทองในการเรียนภาษาญี่ปุ่นของพวกเขาเลยก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเช่น มัตชะลาเต้ ในรูปด้านบน นอกจากจะได้รู้ว่า 抹茶, ラテ, なめらか, クリーミー และ 味わい มีความหมายว่าอะไรแล้ว ยังได้ความรู้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า คำว่า "ลาเต้" ใช้คำทับศัพท์ ラテ (ละเตะ) ไม่ใช่ ラーテー (ลาเต) ที่อ่านออกเสียงยาวอย่างที่คนไทยพูดกัน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
3. เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี
เชื่อว่าเส้นทางการเรียนภาษาญี่ปุ่นของใครหลายคนคงเคยผ่าน "การเรียนรู้แบบทฤษฎี" อย่างการฟังผู้สอนในชั้นเรียน การอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ฯลฯ กันมาบ้าง แน่นอนค่ะว่าผู้เรียนได้ความรู้จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้ที่เคยเรียนมาก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปจนหลายคนอาจตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า "เอ๊ะ เราเคยเรียนเรื่องนี้ด้วยเหรอ"
ในทางกลับกัน คนเก่งภาษาญี่ปุ่นจะเน้น "การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ" มากกว่า เช่น พูดคุยกับคนญี่ปุ่น สอนภาษาญี่ปุ่นให้เพื่อน ทำพรีเซนเทชันด้วยภาษาญี่ปุ่น แชร์เกร็ดความรู้เล็ก ๆ บน TikTok รวมไปถึงการโพสต์รูปบน Instagram ด้วยแคปชันภาษาญี่ปุ่น พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกคิด วิเคราะห์ และเค้นความรู้ทั้งหมดที่มีมาใช้จริง อีกทั้งยังได้ความรู้ใหม่ ๆ จากการลองผิดลองถูกด้วยเช่นกัน
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
จบลงไปแล้วกับ 3 เคล็ดลับที่ช่วยให้เก่งภาษาญี่ปุ่นมากขึ้น หวังว่าทุกคนจะลองนำไปปรับใช้กับการเรียนภาษาญี่ปุ่นดูนะคะ ผู้เขียนเชื่อว่าภาษาญี่ปุ่นของทุกคนจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน : )
ทิพยญาดา ทรัพย์เอนก TPA Press