แจกเทคนิคเอาตัวรอด พาร์ตการฟัง JLPT

     พูดถึงพาร์ต “การฟัง JLPT” ซึ่งเป็นพาร์ตปิดจ็อบการสอบ JLPT ในแต่ละครั้ง ถือเป็นพาร์ตที่หินพอสมควรเลยก็ว่าได้ ด้วยความที่มีโอกาสฟังได้แค่รอบเดียวเลยทำให้หลายคนเกร็งว่าจะฟังพลาดและลังเลกับคำตอบของตัวเองกันยกใหญ่ ใครที่ถนัดพาร์ตนี้คงมองว่าเป็นพาร์ตที่เก็บคะแนนได้สบาย ๆ ส่วนคนที่ไม่ถนัดนั้น อย่าว่าแต่ฟังให้ออก...แค่ฟังให้ทันยังยากเลยจ้ะ T-T ใครก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยถนัดพาร์ตนี้เท่าไร มาลองทำตาม “เทคนิคเอาตัวรอด พาร์ตการฟัง JLPT” ในบทความนี้กันดูค่ะ !
 

 
1. ตั้งใจฟังโจทย์พร้อมจดโน้ตไว้
  


     ทุกครั้งที่ทำพาร์ตการฟัง สิ่งแรกที่ควรโฟกัส คือ โจทย์ถามถึง ใคร เช่น ผู้ชายหรือผู้หญิง พ่อหรือลูก คุณครูหรือนักเรียน ผู้จัดการหรือพนักงาน ฯลฯ หลังจากนั้นให้จดโจทย์ด้วยการโน้ตแบบย่อก่อนที่จะฟังบทสนทนา (เผื่อลืมโจทย์ระหว่างทำข้อสอบ) เมื่อบทสนทนาเริ่มขึ้นก็ขอให้ฟังโดยโฟกัสไปที่คนที่โจทย์ถามถึงเป็นหลักและคอยจดรายละเอียดเกี่ยวกับคนที่โจทย์ถามถึง การฟังแบบนี้จะช่วยให้หาคำตอบได้ง่ายขึ้นและช่วยลดความสับสนในการเลือกคำตอบได้ดีเลยทีเดียว

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

2. จับน้ำเสียง
 

* ข้อมูลจากหนังสือ Point & Practice JLPT N3 การฟัง (สามารถสั่งซื้อได้ที่ tpabook.com) *

     น้ำเสียงท้ายประโยคเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยประเมินคำตอบคร่าว ๆ ได้ว่าผู้พูดกำลังรู้สึกอย่างไร ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น สำนวน ちょっと (ชตโตะ) สามารถออกเสียงได้ 2 แบบ คือ

     แบบที่ 1 ちょっと ที่พูดสั้น ๆ ด้วยน้ำเสียงปกติ มีความหมายว่า นิดหน่อย, เล็กน้อย
     แบบที่ 2 ちょっと… ลากเสียงยาวที่ ด้วยน้ำเสียงที่ต่ำลงในตอนท้าย แฝงความหมายว่า ต้องการปฏิเสธบางอย่างโดยเลี่ยงที่จะพูดออกมาเนื่องจากลำบากใจ

     สังเกตได้ว่าแม้จะเป็นประโยคเดียวกัน แต่น้ำเสียงท้ายประโยคก็อาจทำให้ความหมายเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

3. เข้าใจสำนวนการตอบสไตล์ญี่ปุ่น
 


     ข้อสอบการฟังนอกจากจะวัดความเข้าใจเนื้อเรื่องที่ได้ฟังแล้ว สำนวนการตอบสไตล์ญี่ปุ่นหรือเซนส์การตอบแบบคนญี่ปุ่นก็เป็นอีกเรื่องที่ควรทำความเข้าใจและจดจำให้ดีด้วยเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น โจทย์ถามว่า ถ้าเผลอเหยียบเท้าคนข้าง ๆ จะพูดว่าอะไร ในกรณีนี้บางคนอาจจะเลือกตัวเลือกที่ถามกลับด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า あ、痛いですか。 (อ๊ะ เจ็บหรือเปล่าคะ) ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ถ้าพูดประโยคนี้ในชีวิตประจำวันก็ไม่ผิดหรอก เพียงแต่พออยู่ในบริบทความเป็นญี่ปุ่นแล้ว การตอบกลับว่า あ、すみません。 (อ๊ะ ขอโทษค่ะ) จะเหมาะสมกว่านั่นเอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

     พาร์ตการฟัง JLPT นอกจากจะต้องพกความรู้และสติเข้าห้องสอบไปด้วยแล้ว การมีเทคนิคในการทำข้อสอบติดตัวเพิ่มไปอีกอย่างก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการสอบได้เหมือนกันนะ สำหรับใครที่ลงสนามสอบในรอบนี้ ทางสำนักพิมพ์ฯ ก็ขออวยพรให้โชคดีมีชัยกันถ้วนหน้านะคะ สู้ ๆ ! :D

ทิพยญาดา ทรัพย์เอนก
TPA Press