เปิด 3 เทคนิค พิชิตพาร์ตการอ่าน JLPT !

     ถ้าพูดถึงพาร์ตที่หินที่สุดในการสอบ JLPT ผู้เขียนเชื่อว่า “พาร์ตการอ่าน” คงติดโพลอันดับหนึ่งแน่ ๆ เพราะไหนจะมีบทความที่ยาวและเยอะจนทำเกือบไม่ทันเวลา บวกกับไม่เข้าใจว่าบทความต้องการสื่ออะไร ก็ทำให้หลายคนต้องยอมเดาคำตอบแบบเลี่ยงไม่ได้ และด้วยปัญหาเหล่านี้ ผู้เขียนเลยรวบรวมเทคนิคทำข้อสอบพาร์ตการอ่าน JLPT มาทั้งหมด 3 เทคนิคที่เคยลองทำแล้วได้ผลจริง คะแนนออกมาดีจริง มาฝากทุกคนไว้ในบทความนี้ค่ะ ~

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เทคนิคที่ 1 อ่านโจทย์ก่อนอ่านเนื้อเรื่อง

* ข้อมูลจากหนังสือ Point & Practice JLPT N3 การอ่าน (สามารถสั่งซื้อได้ที่ tpabook.com) *

     เวลาทำพาร์ตการอ่าน สิ่งแรกที่ควรทำคือ อ่านโจทย์ก่อนว่าโจทย์ถามถึงอะไร หลังจากนั้นค่อยไล่อ่านเนื้อหาโดยเน้นเฉพาะส่วนที่โจทย์ถามถึงและตัดประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น ถ้าโจทย์ถามว่า

この文章で筆者が最も言いたいことは何ですか。 (ผู้เขียนต้องการบอกอะไรที่สุด)
→ ให้สังเกตประโยคที่แสดงความคิดเห็นอย่าง ~と思う, ~はずだ, ~ではないだろうか ฯลฯ

それとは、何か (それ ในที่นี้คืออะไร)
→ それ ใช้บ่งชี้สิ่งที่เคยพูดถึงไปแล้ว ให้ย้อนกลับไปอ่านประโยคก่อนหน้าอย่างละเอียด

     เทคนิคนี้จะช่วยให้เราอ่านบทความอย่างมีเป้าหมาย สามารถโฟกัสประเด็นสำคัญได้ตรงจุด และช่วยลดเวลาในการทำข้อสอบได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เทคนิคที่ 2 สังเกตคำสันธาน

     คำสันธานที่เราเห็นกันบ่อย ๆ อย่าง でも, しかし, それで ฯลฯ ถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญมาก ๆ ในพาร์ตการอ่าน หากเราอ่านบทความแล้วรู้สึกสับสนกับทิศทางของเนื้อเรื่องหรือยังจับใจความสำคัญของเนื้อเรื่องไม่ได้ ให้ลองคาดเดาเนื้อเรื่องโดยใช้เทคนิคสังเกตคำสันธานที่อยู่ในประโยคดูค่ะ เช่น

でも/しかし (แต่) – แสดงเนื้อหาที่ขัดแย้งกัน โดยส่วนมากข้อความที่ตามหลังคำพวกนี้จะสำคัญกว่า
つまり (กล่าวคือ) – อธิบายสิ่งที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ด้วยวิธีพูดอีกแบบหนึ่ง มักใช้สรุปสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นต้น

     การอ่านโดยสังเกตคำสันธานไปด้วย จะช่วยให้เราเข้าใจทิศทางของเนื้อเรื่อง อีกทั้งยังสามารถจับใจความสำคัญของเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้นด้วยเหมือนกัน
Tips >> ทำสัญลักษณ์หรือวงกลมคำสันธานที่เจอในบทความ จะช่วยให้อ่านเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เทคนิคที่ 3 ใช้เทคนิค Skimming และ Scanning

     อย่างที่รู้กันว่าพาร์ตการอ่านเป็นพาร์ตที่กินเวลาในการทำข้อสอบมากที่สุด ยิ่งในระดับ N2-N1 ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะบางบทความมีความยาวประมาณเกือบ 1 หน้ากระดาษ ถ้าจะให้อ่านครบทุกตัวอักษรคงไม่มีเวลาทำข้ออื่นแน่ ๆ เพราะฉะนั้นเราควรใช้เทคนิคที่ช่วยลดเวลาในการอ่านค่ะ ซึ่งเทคนิคนั้นก็คือ

1) เทคนิค Skimming (อ่านเร็วเพื่อให้รู้ข้อมูลโดยรวมคร่าว ๆ)  ทำความเข้าใจดูว่าบทความนี้หรือย่อหน้านี้พูดถึงอะไร
ธีมหลักของบทความนี้คืออะไร โดยสังเกตจากคำที่พูดถึงบ่อย ๆ

2) เทคนิค Scanning (ค้นหาเฉพาะข้อมูลที่ต้องการ) หา Keywords สำคัญตามที่โจทย์ถามถึง โดยส่วนมากจะใช้กับโจทย์ค้นหาข้อมูลในโฆษณา ประกาศรับสมัคร แผ่นพับต่าง ๆ เป็นต้น

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

     ทั้ง 3 เทคนิคนี้ ถือเป็นเทคนิคที่ทุกคนควรมีติดตัวก่อนเข้าห้องสอบเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะช่วยลดเวลาในการทำข้อสอบแล้ว ยังช่วยให้เรามีเวลาทบทวนคำตอบในข้ออื่น ๆ มากขึ้นด้วย ^_^

ทิพยญาดา ทรัพย์เอนก TPA Press