จำศัพท์ยากญี่ปุ่นให้ขึ้นใจ ด้วย 3 เทคนิคง่าย ๆ
บทความนี้สืบเนื่องมาจาก “เทคนิคจำศัพท์ญี่ปุ่นแบบศัพท์ไม่สู้กลับ” ที่ผู้เขียนเคยแชร์ในคอลัมน์ J-Learning Tips & Tricks เมื่อนานมาแล้วและไม่ได้พูดถึงเทคนิคท่องจำคำศัพท์อีกเลย ครั้งนี้เลยอยากจะแวะมาอัปเดตกันสักหน่อยค่ะ ! รอบนี้ผู้เขียนคัดมาเฉพาะ เทคนิคจำศัพท์ยากในภาษาญี่ปุ่น ที่อาจจะคล้ายกับเทคนิคที่เคยแชร์มาอยู่บ้าง แต่พอลองเอามาปรับใช้กับการท่องจำคำศัพท์ยากดูแล้วก็รู้สึกว่า จดจำได้ง่ายกว่าที่คิด และ ไม่รู้สึกเหนื่อยที่จะท่องจำสักเท่าไร ไปดูกันดีกว่าว่าจะมีเทคนิคอะไรบ้าง ~
• • • • • • • • • • • • • • • • • •
★ ทำความเข้าใจคำศัพท์พร้อมเชื่อมโยงกับมโนภาพ
* ข้อมูลจากหนังสือ Go! JLPT N1 คำศัพท์ *
(สามารถสั่งซื้อได้ที่ tpabook.com)
คำศัพท์ยากส่วนใหญ่มักเป็น คำศัพท์เชิงนามธรรม ที่ใช้ “คันจิ” ค่อนข้างเยอะ ซึ่งบางทีก็ทำความเข้าใจได้ยากค่ะ ถ้าท่องจำเพียงอย่างเดียวอาจจะจดจำกันไม่ค่อยได้ (หรือต่อให้จำได้ ก็จำได้แค่แป๊บเดียว) ทางแก้ก็คือต้องทำความเข้าใจคำศัพท์นั้น ๆ อย่างละเอียดก่อนว่า
① คำศัพท์คำนั้นมีความหมายว่าอะไร และอ่านอย่างไร
② กรณีที่มีคันจิ ให้สังเกตดูว่าคันจิที่ประกอบอยู่ในคำศัพท์มีความหมายว่าอะไรหรือเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
จากนั้นค่อยสร้างมโนภาพโดยพยายามเชื่อมโยงกับคำศัพท์นั้น ๆ อีกทีเพื่อให้สมองจดจำได้ในระยะยาว
• • • • • • • • • • • • • • • • • •
★ จดจำคำศัพท์จากประโยคตัวอย่าง
หลายคนมักท่องจำคำศัพท์เพียงแค่ คำศัพท์ กับ ความหมาย แต่ไม่จดจำวิธีใช้ว่าต้องใช้ยังไงในสถานการณ์ไหน จนบางครั้งก็ใช้แบบผิด ๆ ถูก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับการท่องจำ “คำกริยาวิเศษณ์” และ “คำเลียนเสียง” ที่มีอยู่เยอะและชวนสับสนได้ง่ายค่ะ
ตัวอย่างเช่นรูปด้านบน とっくに VS とっさに และ がらりと VS がらんと ถ้าจดจำแค่ความหมายอย่างเดียวยังไงก็มีโอกาสจำสลับกัน แต่ถ้าลองจดจำคำศัพท์จากประโยคตัวอย่างแทน เราจะเห็นภาพคำศัพท์นั้น ๆ ได้ชัดขึ้น เข้าใจว่าควรใช้ในบริบทไหน และไม่ใช้สลับกันอีกต่อไป
• • • • • • • • • • • • • • • • • •
★ เจอคำศัพท์คล้ายกันเมื่อไร ให้จดจำเป็นกลุ่มทันที
คำศัพท์ระดับกลาง-สูงส่วนใหญ่จะมีคำศัพท์ที่ดูคล้ายกันค่อนข้างเยอะ เช่น 休暇 (きゅうか), 休憩 (きゅうけい), 休息 (きゅうそく), 休業 (きゅうぎょう) และ休養 (きゅうよう) ทั้ง 5 คำนี้มีความหมายว่า “พัก” ที่มาจากคันจิ “休 (きゅう)” เหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดที่ลึกลงไปอีกว่าเป็นการพักในลักษณะไหน
ซึ่งถ้าจะท่องจำทีละคำ บอกตามตรงว่าจะทำให้สับสนและจดจำไม่ได้เลยสักคำค่ะ ดังนั้น แนะนำว่าถ้าเจอคำศัพท์ที่คล้ายกันเมื่อไร ให้ “ท่องจำเป็นกลุ่ม” ทันที เอาคำที่คล้ายกันมาเทียบให้เห็นกันชัด ๆ ไปเลยว่าต่างกันตรงไหนเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจะดีกว่า
• • • • • • • • • • • • • • • • • •
คำศัพท์ยากในภาษาญี่ปุ่น ถือเป็นเรื่องชาเลนจ์สำหรับผู้เรียนพอสมควร เพราะไหนจะต้องจดจำทั้งคำศัพท์ เสียงอ่านคุนโยมิ / อนโยมิ คันจิ และความหมายที่ยิบย่อยลงไปอีกก็ชวนให้ถอดใจที่จะท่องจำได้เหมือนกัน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าถ้าเราเปิดใจเรียนรู้คำศัพท์ใหม่จริง ๆ ต่อให้ศัพท์จะยากแค่ไหน ยังไงก็เอาอยู่ละนะ ✌
ทิพยญาดา ทรัพย์เอนก TPA Press