คันจิคู่สุดท้ายของปี 2016 แล้ววว ตอนได้พบกับเจ้า 2 ตัวนี้ใหม่ ๆ เรามึนกับมันมาก และใช้สลับกันบ่อย ๆ แต่หลังจากที่ได้เรียนรู้เทคนิคการจำ เราก็ไม่เคยใช้สลับกันอีกเลย (จริง ๆ นะ ไม่ได้โม้) แต่ก่อนจะไปรู้เทคนิค มาเฉลยก่อน คันจิที่ถูกต้องสำหรับประโยคนี้คือ
.
.
.
.
.
.
持 จ้ะ
#持 มีความหมายว่า |ถือ พกติดตัว มีเป็นเจ้าของ| ถือของ พกโทรศัพท์ พกผ้าเช็ดหน้า มีร้าน มีรถ (= มีร้าน/รถเป็นของตัวเอง และพอเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่าเผลอแปลว่า ถือรถ ถือร้าน นะ เราเป็นคนธรรมดา บ่ใช่คนเหล็กเด้อ) ก็ใช้คันจิตัวนี้นี่แหละ ความจริง 持 มีหลากความหมายกว่านี้ แต่นี่คัดที่เจอบ่อย ๆ มาให้ก่อน และประโยคนี้ก็แปลได้ว่า “คนที่ถือพจนานุกรมอยู่ในมือคือใคร”
ส่วน #待 ซึ่งมีจำนวนขีด 9 ขีดเท่ากับ 持 เปี๊ยบ ต่างกันแค่ 3 ขีดแรกที่อยู่ข้างหน้า (ก็บุชุนั่นแหละ) มีความหมายว่า |รอ คอย| รอฉันรอเธออยู่ แต่ไม่รู้เธออยู่หนใด ♫~
#ก่อนจากกัน
持 〔★3〕 และ 待 〔★3〕 อ่านว่า も (つ) และま (つ) ตามลำดับ เป็นเสียงอ่าน [訓] ทั้งคู่ คันจิทั้ง 2 ตัวมีส่วนประกอบด้านหลังเหมือนกัน ต่างกันแค่บุชุด้านหน้า โดย 持 มีบุชุคือ 扌 (てへん) มักปรากฏในคันจิที่มีความหมายเกี่ยวกับมือหรือการเคลื่อนไหวของมือ ส่วน 待 มีบุชุคือ 彳 (ぎょうにんべん) มักปรากฏในคันจิที่มีความหมายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเท้า การเดินเท้า ถนนหนทาง ตัวนึงความหมายเกี่ยวกับมือ อีกตัวความหมายเกี่ยวกับเท้า เลือกผิดชีวิตเปลี่ยนเลยนะเนี่ย
ทีนี้ ที่เกริ่นว่าเรามีเทคนิคการจำ เทคนิคที่ว่าก็คือ “จำบุชุของตัวใดตัวหนึ่ง” ให้ได้ ถ้ารู้แล้วว่า 扌มีความหมายเกี่ยวกับมือ เจอ 持 ก็จะอ๋อทันทีว่า เฮ้ย คำนี้คือ “ถือ” เพราะเราใช้มือถือของ หรือจะเลือกจำ彳ว่าเกี่ยวกับ “เท้า” ก็ได้ ให้จำว่า เวลารอเรา “ยืน” รอ เมื้อยเมื่อย ขอแค่จำตัวใดตัวหนึ่งได้ ก็ลดอัตราการเลือกใช้ผิดได้มากโขเลยละ
-------------------------------------------------------------------------------------
★ = ระดับ JLPT
訓 = เสียงอ่านแบบญี่ปุ่น
กองบรรณาธิการ สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม