||แบบว่าอยากจะบอก||
"พี่คะ หนูอยากเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง ไม่มีพื้นมาก่อน ควรเริ่มจากอะไรดีคะ ?"
ในฐานะสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือเรียนภาษาญี่ปุ่น เราคุ้นเคยกับคำถามนี้เป็นอย่างดี กรณีที่อยากเรียนแบบนำไปใช้งานได้ในอนาคต ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ไม่ได้เอาแค่พูดได้ใน 3 วัน 7 วันแล้วเที่ยวไม่หลง เราแนะนำให้เริ่มจาก "ตัวอักษร" ก่อนจ้ะ แต่ภาษาญี่ปุ่นมันดันมีตัวอักษรถึง 3 ชุด อันได้แก่ ฮิรางานะ คาตากานะ และคันจิ ซึ่งน้องจะเลือกเรียนแค่ชุดใดชุดหนึ่งไม่ได้เพราะทั้ง 3 ชุดสำคัญหมด (สำคัญยังไง ไปอ่านในหนังสือนะ) แต่แหม ต้องเรียนตู้มเดียว 3 ชุดตั้งแต่ต้นก็กระไร กลุ่ม startup (?) อย่างน้อง ๆ เริ่มจากฮิรางานะและคาตากานะก่อนก็พอ พอฮิกับคาคล่องแล้วค่อยเขยิบไปเกา เอ้ย คัน ต่อ...
ทีนี้ จะเรียนตัวอักษร ตัวเลือกแรก ๆ ที่น่าจะนึกถึงคือหนังสือสอนคัดใช่มั้ย พวกหนังสือคัดอักษรฮิ ๆ คา ๆ เนี่ย สำนักพิมพ์เราก็มีให้เลือกอยู่ 2-3 เล่ม ซึ่งทุกเล่มก็สอนคัดสอนอ่านเหมือนกันมี CD ประกอบเหมือนกัน แบบฝึกหัดมากมีเหมือนกัน แล้วสำหรับมือใหม่หัดคัด
ควรเลือกเล่มไหนดีล่ะ ??? มา เดี๋ยวเราบอกให้ฟังว่าแต่ละเล่มต่างกันยังไง จะได้เลือกกันถูก
✏️ สนุกคัดอักษรคานะ
เล่มนี้สอนทั้งฮิรางานะและคาตากานะจบในเล่มเดียว และมาแนวเรียบ ๆ ตามหลักหนังสือคัดอักษรทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน ผู้ใหญ่ใช้ได้ เด็กใช้ดี
วิธีการเรียนรู้ของเล่มนี้เราน่าจะเคยผ่านกันมาบ้างแล้ว ลองนึกย้อนไปสมัยเริ่มคัดอักษรภาษาอังกฤษในหนังสือสอนคัดสิ ตัว a ก็จะมีคำว่า apple พร้อมภาพแอปเปิลอยู่ข้าง ๆ ตัว b ก็มีคำว่า boy พร้อมภาพเด็กผู้ชายอยู่ข้าง ๆ เล่มนี้ก็ใช้หลักนี้แหละ คือ “จำตัวอักษรจากคำศัพท์ง่าย ๆ ที่มีอักษรตัวนั้นเป็นส่วนประกอบพร้อมรูปภาพของสิ่งนั้น” ท้ายเล่มมีดัชนีคำศัพท์ที่ได้เรียนในเล่ม (ซึ่งเยอะทีเดียว) พร้อมคำแปล และที่สำคัญ มีอธิบายลักษณะของเสียงต่าง ๆ ในภาษาญี่ปุ่นอย่างละเอียด เช่น เสียงยาว เสียงขุ่น เสียงกัก ซึ่งเป็นความรู้ที่ผู้เริ่มเรียนมิควรละเลย
✏️ ฮิระงะนะเรียนสบาย สไตล์โคะฮะรุ
✏️ คะตะคะนะ สู้ สู้ !
เล่มนึงสอนฮิรางานะ เล่มนึงสอนคาตากานะ (ก็ตามชื่ออะนะ) เพราะฉะนั้น จงมีคู่กัน ขาดเล่มใดเล่มหนึ่งไปเสียมิได้ เดี๋ยวความรู้ไม่ครบ
วิธีการเรียนรู้ของเล่มนี้แหวกแนวทีเดียว ไม่เหมือนหนังสือคัดอักษรที่เราเคยเห็นทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ เค้าใช้วิธี “เชื่อมโยงรูปร่างและเสียงของตัวอักษรให้เข้ากับเสียงในภาษาไทยและนำเสนอเป็นภาพ” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Association Method อ้าว อึ้งเลย เช่น ๆ อักษร カ อ่านว่า "คะ" ก็จะใช้ภาพ "ขา" มาเชื่อมโยงกับเสียงอ่านและรูปร่างของตัวอักษร ถ้ายังมโนไม่ออกดูหน้าปกเล่ม คะตะคะนะ สู้ สู้ ! นะ แบบนั้นเลย พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม และมีบัตรตัวอักษรท้ายเล่ม ตัดมาพกติดตัวไว้ท่องได้
ดูแล้วเราน่าจะถูกจริตกับการเรียนของเล่มไหนก็เลือกเล่มนั้นโลด บางคนถนัดวิถีดั้งเดิมก็ไปเล่ม สนุกคัดอักษรคานะ ใครอยากลองวิถีใหม่ก็ไป
ฮิระงะนะเรียนสบาย สไตล์โคะฮะรุ และ คะตะคะนะ สู้ สู้ !
แต่ไม่ว่าจะเรียนจากเล่มไหนก็มั่นใจได้เลยว่า “เขียนและอ่านได้ถูกต้องตามแบบฉบับคนญี่ปุ่น” แน่นอน