กาชาปอง [ガシャポン] : สุ่ม กาลิกาลิ กาลิสุ่ม
กาชาปอง (ガシャポン gashapon) คือชื่อเรียกสินค้า Capsule Toy ของบริษัทบันได (Bandai) ประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นแคปซูลรูปไข่ ภายในบรรจุโมเดลขนาดเล็กที่ลงสีมาให้เรียบร้อยแล้ว ทางผู้ให้บริการจะนำแคปซูลดังกล่าวไปใส่ในตู้อัตโนมัติ ลูกค้าจะต้องหยอดเงินตามที่กำหนดเพื่อหมุนกลไกของตู้และสุ่มแคปซูลในตู้ออกมา คำว่า กาชาปอง มีที่มาจากคำเลียนเสียงธรรมชาติ (Onomatopoeia) โดยคำว่า กาชา มาจากเสียงกลไกของตู้กาชาปองในระหว่างไขกลไก ส่วน ปอง มาจากเสียงแคปซูลที่ร่วงลงมาและกระทบกับช่องรับสินค้า
ขอบคุณภาพประกอบจาก - http://ameblo.jp/akazura/entry-12064996875.html
แม้คำว่ากาชาปองจะถูกจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทบันได แต่คนทั่วไปก็มักจะเรียกสินค้าประเภทนี้ว่า กาชาปอง ไม่ว่าสินค้าดังกล่าวจะเป็นของบริษัทใดก็ตามไป กาชาปองแต่ละตู้มักประกอบไปด้วยโมเดลจากซีรีส์หรือเรื่องเดียวกัน (ภายหลังมีของเล่นจิ๋ว พวงกุญแจ ฯลฯ ด้วย) ส่วนใหญ่มาจากมังงะ อานิเมะ เกม หรือภาพยนตร์ที่กำลังฮิตในขณะนั้น ใน 1 ตู้จะมีโมเดลของตัวละครหายากหรือตัวละครลับเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ทำให้คนที่ตามสะสมอาจต้องไขกาชาปองจนแคปซูลหมดตู้เพื่อที่จะได้โมเดลตัวที่ต้องการ
ขอบคุณภาพประกอบจาก - http://camera.itmedia.co.jp/dc/articles/1509/30/news072.html
เกมออนไลน์ของญี่ปุ่นเองก็ได้นำระบบเดียวกับกาชาปองมาใช้ แต่มักจะนิยมเรียกว่า กาชา เป็นการสุ่มตัวละครหรือสิ่งของในเกม โดยใช้สิ่งที่แต่ละเกมกำหนดเพื่อไขกาชา สิ่งที่แต่ละเกมกำหนดส่วนใหญ่มักจะเป็น เพชร หรือที่นิยมเรียกกันติดปากว่า เจม (Gem) ซึ่งบางเกมอาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ส่วนการที่จะมีเพชรสำหรับสุ่มเปิดกาชาเป็นจำนวนมากนั้นมาจากการเติมเงินจริงเข้าไปในเกมนั่นเอง
ตัวอย่างระบบสุ่มกาชาจากเกม Chain Chronicle (เกมบนโทรศัพท์มือถือ)
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://cetranslation.blogspot.com/2013/08/sega-app-game-chain-chronicle.html
ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา (2559) เกมออนไลน์ต่าง ๆ ของญี่ปุ่นมีการจัดโปรโมชั่นมากมาย เพื่อดึงดูดให้ผู้เล่นได้สุ่มเปิดกาชาเพื่อหาตัวละครหายาก ซึ่งก็หมายถึงการเติมเงินในเกมเพิ่มขึ้นนั่นเอง และในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการโพสต์ภาพและข้อความบนทวิตเตอร์จากผู้ใช้ชื่อ LipuJenes เกี่ยวการสุ่มเปิดกาชาในเกมมือถือของญี่ปุ่น เกม Granblue Fantasy เพื่อหาตัวละครพิเศษที่มีชื่อว่า อันจิร่า (アンチラ) ในช่วงกิจกรรมปีใหม่ ซึ่งเขากระหน่ำเปิดกาชาไปทั้งหมด 2,522 ครั้งติดต่อกัน คิดเป็นเงิน 756,000 เยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 227,000 บาท แต่ก็ไม่สามารถทำให้เขาได้ตัวละครดังกล่าวแต่อย่างใด เรื่องนี้จึงถูกรีทวีตอย่างถล่มทลายและเป็นที่โจษจันของเหล่าเกมเมอร์เป็นอย่างมาก
Twitter ของผู้ใช้ที่ชื่อว่า LipuJenes ที่ทวิตถึงการสุ่มกาชาในเกม Granblue Fantasy
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://twitter.com/LipuJenes/status/683306063563640832/photo/1?ref_src=twsrc%5Etfw
จากกระแสเรื่องการเติมเงินในเกมดังกล่าวบนโซเชียลมีเดีย ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาจับตามองปัญหาดังกล่าวนี้ และมีการร้องเรียนไปยัง สำนักงานกิจการผู้บริโภค (消費者庁 Consumer Affairs Agency: CAA) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานฯ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและฝากข้อความไปยังผู้ให้บริการเกมออนไลน์ว่า “เมื่อมีการชักจูงให้สุ่มกาชาในลักษณะเหมือนการเล่นพนันแบบนี้ได้ ก็ควรมีกฎหมายหรือข้อบังคับในเรื่องแบบนี้ออกมาด้วย” จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม 2559 สมาคมเกมออนไลน์ญี่ปุ่น (日本オンラインゲーム協会 Japan Online Game Association) ได้ออกมาตรการควบคุมระบบการสุ่มกาชามีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
• การสุ่มกาชาเพื่อหาตัวละครพิเศษ (หรือไอเทมพิเศษ) ในเกมจะต้องได้ตัวละครพิเศษภายในการสุ่มกาชา 100 ครั้ง หรือคิดเป็น 1% และจำนวนเงินที่ใช้ในการสุ่มดังกล่าวจะต้องไม่เกิน 50,000 เยน ต่อตัวละครพิเศษ 1 ตัว
• หากจำนวนเงินสูงสุดในการสุ่มกาชาเพื่อให้ได้ตัวละครพิเศษมากกว่า 50,000 เยน จะต้องประกาศอย่างเป็นทางการให้ลูกค้าได้รับทราบ
• บอกอัตราการสุ่มกาชาอย่างชัดเจน และผู้ให้บริการจะต้องบันทึกสถิติการสุ่มกาชาของลูกค้าและรับผิดชอบหากการสุ่มไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการกำหนด
ขอบคุณภาพประกอบจาก - http://www.appps.jp/222162/
ข้อกำหนดของสมาคมเกมออนไลน์ญี่ปุ่นนี้ประกาศให้มีผลเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการที่ฝ่าฝืนยังไม่มีการกำหนดออกมา
เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press