🎐 ฟูริน : กระดิ่งลม 🎐


        สิ่งมงคลหรือเครื่องรางของญี่ปุ่นมีมากมายหลากหลายประเภท บางชิ้นสามารถนำมาประดับตกแต่งบ้านเรือนให้เกิดความสวยงามได้ 1 ในนั้นก็คือ กระดิ่งลม หรือ ฟูริน (風鈴 Fuurin) นั่นเอง ผู้คนมักนิยมแขวนกระดิ่งลมไว้ตามระเบียงบ้าน เมื่อมีลมพัดก็จะเกิดเสียงไพเราะ ช่วยให้จิตใจสงบ นอกจากนั้นยังเชื่อว่า กระดิ่งลมช่วยปกป้องภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเข้ามายังตัวบ้านได้
 

 photo 1_zpsmtpzpuvm.jpg


ขอบคุณภาพประกอบจาก - http://www.sgwritings.com/30182/viewspace_31317.html


        วัสดุในการทำกระดิ่งลมส่วนใหญ่จะเป็นแก้ว เซรามิก หรือเหล็ก แต่ส่วนใหญ่จะนิยมฟูรินที่ทำมาจากแก้วมากกว่าวัสดุอื่น ๆ โดยจะมีรูปทรงคล้ายถ้วยคว่ำ ภายในกลวง แล้วร้อยเชือกสำหรับผูกกับเสาหรือระเบียงผ่านตัวกระดิ่งลงมาด้านใน โดยผูกวัสดุเล็ก ๆ ติดกับเชือกไว้ในบริเวณตัวกระดิ่ง และผูกกระดาษหรือพลาสติกสำหรับรับลมไว้ที่ปลายเชือก เมื่อลมพัด วัสดุเล็ก ๆ ก็จะไหวกระทบกับตัวกระดิ่งทำให้เกิดเสียง ส่วนกระดาษสำหรับรับลมนั้น คนญี่ปุ่นมักเขียนคำอธิษฐานหรือพรต่าง ๆ ที่เป็นมงคลลงไป เปรียบเสมือนว่าเมื่อกระดิ่งลมส่งเสียงก็จะนำพาสิ่งดี ๆ เหล่านั้นมาให้ตนเอง
 

 photo 2_zps7w7w2wjn.jpg


ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://tokutomimasaki.com/2015/08/kawagoe_hikawa_shrine_en_musubi_fuurin_3.html


        กระดิ่งลมในญี่ปุ่นได้รับการเผยแพร่มากจากจีนในสมัยเอโดะ เป็นกระดิ่งสำหรับใช้ในทางศาสนาที่เรียกว่า ฟูตากุ (風鐸 Fuutaku) ที่แขวนอยู่ตามมุมหลังคาของวัด กระดิ่งลมแรกเริ่มทำจากกระบอกไม้ไผ่ ก่อนจะพัฒนาเป็นแก้วและวัสดุอื่น ๆ จังหวัดนางาซากิเป็นจังหวัดแรกที่มีการผลิตกระดิ่งลมจากแก้ว ก่อนจะเผยแพร่ไปสู่โอซาก้า เกียวโต และเอโดะ ในช่วงแรกของการผลิตที่ยังไม่มีเทคโนโลยีมากนักใช้วิธีการหลอมแก้วแล้วเป่าเป็นกระดิ่งทีละชิ้น ทำให้กระดิ่งลมในตอนนั้นมีราคาสูงมาก จนเข้าสู่สมัยเมจิช่วงปี 1887 ก็มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ทำให้สามารถผลิตได้จำนวนเยอะขึ้น จนราคาถูกลงและพัฒนาการผลิตต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 

 photo 3_zps3fjdyhzy.jpg


ฟูตากุ
ขอบคุณภาพประกอบจาก - http://wallpaper.free-photograph.net/jp/photobase/yp5829.html


เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press