Divergence : คน แ ย ก โลก
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อาจประสบปัญหาขาดแคลนคนวัยทำงานได้ในอนาคต เนื่องจากประเทศกำลังเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ กล่าวคือ มีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงกว่า 20% และมีแน้วโน้มที่สัดส่วนของผู้สูงอายุจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องมาจากอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงมาโดยตลอด โดยผู้หญิง 1 คนจะมีบุตรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4 คนเท่านั้น นอกจากนี้ ประชากรญี่ปุ่นก็ลดลงมาตลอด โดยมีอัตราคนเกิดน้อยกว่าคนตายเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกัน จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นมีประชากรวัยทำงานน้อยลง และยังมีอีกสาเหตุคือ มีกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว (อายุ 16-35 ปี) เลือกที่จะไม่ทำงานประจำ หลีกหนีจากสังคม หรือเก็บตัวอยู่คนเดียว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ได้แก่ Freeter, NEET, Hikikomori
กราฟสัดส่วนประชากรประเทศญี่ปุ่น จำแนกตามอายุในปัจจุบันและคาดการณ์ในอนาคต
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://www.tokyofoundation.org/en/articles/2016/missing-landowners
Freeter หมายถึง คนที่ไม่ทำงานประจำ แต่จะเลือกทำงานพาร์ทไทม์ รับค่าแรงเป็นรายชั่วโมง ลักษณะงานเป็นงานง่าย ๆ ไม่ใช้ทักษะมากนัก ทำงานเพียงชั่วระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง ไม่ยึดติดหรือผูกมัดกับองค์กรใด ต้องการมีอิสรภาพในการดำเนินชีวิต และแสวงหาความพึงพอใจจากการได้เลือกทำงาน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมการทำงานดั้งเดิมของญี่ปุ่น Freeter แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. หางานปกติเหมือนที่เคยทำไม่ได้ 2. แสวงหาเป้าหมายในชีวิต ระหว่างนั้นก็ทำงานเพียงเพื่อพอกินพอใช้จ่าย 3. ระหว่างรองานประจำที่ตนเองชอบ ดูเผิน ๆ Freeter อาจคล้ายกับ Freelance แต่มีข้อแตกต่างกันคือ Freelance มักจะเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน เช่น โปรแกมเมอร์ นักออกแบบ ฯลฯ Freelance อยากประสบความสำเร็จในงานของตนเอง มีผลงานเป็นที่ยอบรับ และได้รับผลตอบแทนที่สูงตามความสามารถของตนเอง
ขอบคุณภาพประกอบจาก - http://freeter-life.com/rirekisyo-2/
NEET (Not in Education, Employment, or Training) หมายถึง คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ (ทั้งที่เรียนจบแล้วหรือหยุดกลางคัน) ไม่ยอมทำงาน ไม่เข้ารับการฝึกฝนอบรมใด ๆ ใช้ชีวิตโดยการเที่ยวเล่นไปวัน ๆ หรือบางคนก็หมกตัวอยู่แต่ในบ้าน พยายามหนีจากกฎระเบียบสังคมหรือความรับผิดชอบ NEET ส่วนหนึ่งมาจากการที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองให้เงินไว้ใช้จ่าย ทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการเงิน
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://breakingmoulds.com/2014/04/22/on-the-fear-of-becoming-a-neet/
Hikikomori (ฮิคิโคโมริ ひきこもり) บางครั้งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “ฮิคกี้” หมายถึง คนที่ถอนตัวเองออกจากสังคม และจะเริ่มตัดสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง หรือกระทั่งพ่อแม่ ฮิคิโคโมริส่วนใหญ่มักจะประสบกับเหตุการณ์หรือเรื่องราวทางสังคมที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการกลัวการเข้าสังคม กลัวความล้มเหลว กลัวการอยู่ต่อหน้าสาธารณชน ฯลฯ พวกเขาจะอ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ดูทีวี หรืออาจจะนั่งเฉย ๆ ภายในห้องส่วนตัวนานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง NEET และ ฮิคิโมริ คือ ไม่ได้เดือดร้อนเรื่องการเงิน อาศัยเงินจากผู้ปกครองในการดำเนินชีวิต
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://www.wsj.com/articles/the-fight-to-save-japans-young-shut-ins-1422292138
ปัจจุบันบุคคลทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในญี่ปุ่น ทางรัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มที่น่าเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ บุคคลในกลุ่มฮิคิโคโมริ ทั้งนี้ หากมองลงไปลึก ๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยคนเหล่านี้ได้เป็นลำดับแรกคือ สถาบันครอบครัว หากคนรอบตัวคุณเริ่มมีพฤติกรรมดังกล่าว อย่าตำหนิหรือต่อว่า แต่พยายามชวนคุย ปรับความเข้าใจ ถ้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาจชวนไปทำกิจกรรมนอกสถานที่บ้าง เพราะหากยิ่งไม่สนใจและปล่อยให้ถลำลึกสู่การเก็บตัวอยู่คนเดียวนานเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นคนที่แยกออกจากสังคมโลกโดยสิ้นเชิง
เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press