💴 BOJ กับ ดอกเบี้ยแห่งความลับ 💴
[BOJ and the Interest of Secrets]


        เมื่อปลายเดือนมกราคม 2016 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ BOJ : Bank of Japan (日本銀行 Nippon Ginko) ได้ประกาศนโยบายดอกเบี้ยติดลบที่อัตรา -0.1% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนเป็นกังวลว่าเงินต้นในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารในประเทศญี่ปุ่นจะค่อย ๆ ลดลง แต่แท้ที่จริงแล้วประชาชนทั่วไปยังได้ดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นอยู่ ถึงแม้จะน้อยนิดก็ตามที อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่นคืออะไร ?? ก็จะขออธิบายดังนี้
 

 photo boj_1_zpsvagb3nqh.jpg


ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://www.valuewalk.com/2016/03/whats-the-deal-with-negative-interest-rates/


        นโยบายที่ BOJ ประกาศออกมานั้นมีผลเฉพาะกับเงินที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ฝากไว้กับ BOJ ซึ่งเงินเหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นได้ 3 ส่วน

        1. Basic Balance เป็นเงินตามนโยบาย “ผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณและคุณภาพ” หรือ QQE (Quantitative and Qualitative Easing) ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2015 มีมูลค่า 210 ล้านล้านเยน และคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.1% เท่าเดิม
        2. Macro Add-On แยกย่อยออกเป็น 3 ประเภท คือ (1) เงินสำรองตามกฎหมายที่สถาบันการเงินต้องดำรงไว้ (2) ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เกี่ยวกับสินเชื่อช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติต่าง ๆ และ (3) ส่วนที่ BOJ เห็นว่าควรเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของ QQE ที่จะเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราดอกเบี้ย 0%
        3. Policy Rate Balance คือเงินส่วนที่เกินจาก 2 ส่วนข้างต้น และส่วนนี้เองที่เป็นดอกเบี้ยติดลบ โดยมีอัตราดอกเบี้ย -0.1%

 

 photo boj_2_zps51xyxid5.jpg


ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://www.creditwritedowns.com/2016/02/why-china-cares-about-japans-negative-rates.html


        BOJ มองว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยให้สถาบันการเงินในญี่ปุ่นนำเงินออกมาปล่อยกู้ง่ายขึ้น ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น และทำให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายกว่าเดิม ส่วนบุคคลทั่วไปที่นำเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นจะได้รับดอกเบี้ยในอัตรา 0.01-0.026% สำหรับบัญชีเงินฝากประจำ และ 0.001% สำหรับบัญชีเงินฝากทั่วไป (หรือเทียบเท่ากับบัญชีออมทรัพย์ในบ้านเรา)

        ทั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศแรกที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพราะเคยมีประเทศอื่นใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนี้

        • ปี 1970 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อต่อสู้กับค่าเงิน Swiss Franc (CHF) ที่แข็งตัวเกินไป สาเหตุเนื่องมาจากนักลงทุนหนีจากเงินเฟ้อในประเทศอื่น ๆ เข้ามาถือเงิน Franc แทน
        • ปี 2009-2010 ประเทศสวีเดน และปี 2012 ประเทศเดนมาร์ก ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพราะต้องการสกัดเงินร้อนที่ไหลเข้ามาในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
        • ปี 2014 ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ เพราะต้องการปกป้องภาวะเงินฝืดในกลุ่มยูโรโซน

 

 photo boj_3_zpstobinnpv.jpg

 ขอบคุณภาพประกอบจาก
 https://www.bryanperryinvesting.com/the-race-to-zero-interest-rates-may-have-started/


เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press