Last September…กันยายนสุดท้ายของชีวิต
เดือนกันยายนของญี่ปุ่นถือเป็นช่วงที่ผลัดเปลี่ยนจากฤดูร้อนและฤดูฝนเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศอันร้อนอบอ้าวจะถูกแทนที่ด้วยอากาศอันอบอุ่น เป็นสัญญาณเตือนว่าปิดเทอมหน้าร้อนที่สนุกสนานของเหล่านักเรียนกำลังจะหมดลง และภาคเรียนใหม่ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เด็กวัยรุ่นในวัยเรียนหลายคนอาจจะกำลังรอวันเปิดเทอมใหม่อย่างใจจดใจจ่อ แต่ก็ยังมีกลุ่มนักเรียนอีกส่วนหนึ่งที่เลือกให้วันเปิดภาคเรียนเดือนกันยายน…เป็นวันสุดท้ายของชีวิต
“ไม่ว่าใครก็มองไม่เห็นฉัน อยากจะหาย ๆ ไปเสียที
ใครสักคนช่วยบอกความหมายที่ฉันมีชีวิตอยู่ทีเถอะ”
ขอบคุณรูปภาพจาก - https://twitter.com/sadgirl_5
ประเทศญี่ปุ่นถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตาย (自殺 jisatsu) สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเมื่อปี 2546 มีคนฆ่าตัวตายสูงถึง 34,427 คน แต่ถึงแม้ว่าในปีต่อ ๆ มา จำนวนการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดอยู่ที่ 21,897 คนในปี 2559 (คิดเป็นอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 68 คน) แต่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่มากอยู่ดี โดยวิธีการที่นำมาใช้ฆ่าตัวตายบ่อยที่สุดคือ การผูกคอตาย และรองลงมาคือ การกระโดดรางรถไฟ
ขอบคุณรูปภาพจาก
http://zigsow.jp/portal/own_item_detail/154275/mi_109893_1317509606_1423222480.jpg/
ส่วนสาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ตามกลุ่มวัย ได้แก่
• วัยสูงอายุ มักฆ่าตัวตายเนื่องจากอาการเจ็บป่วยและกลัวว่าตนเองจะเป็นภาระให้แก่ลูกหลาน
• วัยทำงาน มักฆ่าตัวตายเนื่องจากปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ และชั่วโมงทำงานที่มากเกินไปจนไม่มีเวลาพัก
• วัยเพิ่งเรียนจบ มักฆ่าตัวตายเนื่องจากว่างงาน ไม่อยากออกมาสู้ชีวิตในสังคม หรือไม่สามารถปฏิบัติตัวตามบรรทัดฐานของสังคมได้
• วัยรุ่น มักฆ่าตัวตายเนื่องจากปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และไม่สามารถทนต่อแรงกดดันต่อระบบการศึกษาที่แข่งขันกันอย่างสูงได้
ขอบคุณรูปภาพจาก – http://pupucomel.blogspot.com/
สำหรับกลุ่มเยาวชนญี่ปุ่นก็เป็นกลุ่มวัยหนึ่งที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูง เนื่องจากทนสภาพแวดล้อมที่โรงเรียนไม่ไหว ในแต่ละวันที่ไปโรงเรียน พวกเขาต้องต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัวจากการถูกรังแกของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน การสอบตก การทำผลการเรียนได้ไม่ดี และที่สำคัญคือ การที่ตนเองรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักจากครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนกดดันจนทำให้เด็ก ๆ หลายคนมีปัญหาทางสุขภาพจิตไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ สุดท้ายพวกเขาจึงเลือกช่วงวันที่ 1 กันยายน ซึ่งเป็นวันเปิดเรียนของภาคเรียนที่ 2 จบชีวิตตนเองลงมากกว่าวันอื่น ๆ ของปีถึง 3 เท่า
ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.tumblr.com/search/japanese%20high%20school%20classroom
ปัจจุบัน มีสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งเปิดให้กลุ่มนักเรียนที่มีความรู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล และไม่ต้องการไปเรียนในวันเปิดภาคการศึกษาวันแรกในเดือนกันยายนเข้าไปใช้บริการได้ เช่น ห้องสมุดบางแห่งและสวนสัตว์อุเอโนะ เป็นต้น ส่วนทางการญี่ปุ่นก็ได้เพิ่มการเฝ้าระวังและเรียกร้องให้โรงเรียนคอยดูแลกลุ่มนักเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะฆ่าตัวตายหรือมีความวิตกกังวลต่อการมาโรงเรียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กหรือผู้ปกครองตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดจำนวนการฆ่าตัวตายของประชากรชาวญี่ปุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
สุธินี เทียนกุล TPA Press