ท้าวทองกีบม้า
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เรา ๆ ท่าน ๆ ผู้อาศัยอยู่ในสยามประเทศกำลังดื่มด่ำกับละครหลังข่าวเรื่อง บุพเพสันนิวาส กันอย่างออกรสออกชาติ ติดกันงอมแงมทุกเพศทุกวัย จะว่าเป็นปรากฏการณ์ก็ไม่น่าจะผิด เพราะกระแสตอบรับดีชนิดถล่มทลายแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งพระนครและหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ถนนในค่ำคืนวันพุธ-พฤหัสบดีก็โล่งไปจนน่าใจหาย เล่นเอางงกันไปหมดว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าก็คงเป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของแม่การะเกดกับคุณพี่หมื่นสุนทรเทวาเป็นแน่แท้ แต่นอกจากตัวละครเด่น ๆ ที่เป็นที่พูดถึงกัน ก็เผลอไปสะดุดตากับหญิงสาวนางหนึ่งในเรื่อง หน้าตาออกฝรั่งตะวันตก มีบิดาเป็นแขกขายผ้าอยู่ในตลาด แล้วบังเอิญว่าหญิงสาวนางนั้นก็ได้พูดถึงประวัติของตัวเองในบทสนทนาหนึ่งว่ามีเชื้อสายญี่ปุ่นด้วย...งงหนักเข้าไปอีก เรียกได้ว่าเป็นความซับซ้อนทางชาติพันธุ์อย่างที่สุด หญิงสาวนางนี้มีนามว่า มารี กีมาร์ (ในละครก็จะเรียกกันว่า แม่มะลิ (ทำไมได้ยินแบบนี้แล้วนึกถึงฮิปโปก็ไม่ทราบ...) ตามสไตล์คนไทยโบราณที่เวลาได้ยินอะไรเป็นภาษาฝรั่งก็จะนำมาเรียกจนเพี้ยนไปซะหมด ได้ยินมายังไงก็เรียกมันอย่างนั้น) รับบทโดย ซูซี่ สุษิรา ใช่แล้วครับ เธอก็คือคนเดียวกันกับ ท้าวทองกีบม้า(ターオ・トーンキープマー)ที่คนไทยรู้จักกันดี (?) นั่นเอง ใครอยู่สายขนมไทยน่าจะต้องเคยได้ยินชื่อกันมาบ้างแหละ ก็เลยอยากจะรู้จักท้าวทองกีบม้าให้มากขึ้น
ขอบคุณรูปภาพจาก - https://www.thairath.co.th/content/1230147
มารี กีมาร์ มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา มีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส เบงกอล และญี่ปุ่น...ญี่ปุ่นนี่แหละครับที่เราสนใจว่าเจ้าได้แต่ใดมา บิดาของนางอพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกส ส่วนมารดาเป็นลูกหลานของผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น ซึ่งการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่นนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ตามคำบัญชาของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (ไดเมียวคนสำคัญของญี่ปุ่นในสมัยอาซุชิ-โมโมยามะ) บางข้อมูลบอกว่า ย่า (หรือยาย) ของนางถูกนำตัวมาไว้ที่เวียดนาม แล้วก็ได้สมรสกับลูกหลานของไดเมียว แล้วหลังจากนั้นก็ได้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง บางข้อมูลก็บอกว่าไปอยู่ที่กัมพูชาก่อน แล้วจึงโดนกวาดต้อนมาที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นก็ทำให้นางอาจจะมีเชื้อสายเขมรผ่านทางมารดาเพิ่มขึ้นมาอีก...จะซับซ้อนไปไหนนี่
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://www.chilljourney.com/เที่ยวอยุธยาใน1วัน/
ท้าวทองกีบม้า หรือ มารีอา สมรสกับพระยาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน (รับบทโดย หลุยส์ สก็อต) ขุนนางชาวกรีกผู้เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่ง ณ ขณะนั้นนางมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้น ถ้าตามในละครคือ ตัวของแม่มะลิไม่ได้รักใคร่ชอบพอกับนายฟอลคอนคนนี้เท่าไร แต่ก็ต้องได้มาแต่งงานกัน ในทางประวัติศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะบิดาของนางก็ไม่ได้ปลื้มลูกเขยคนนี้สักเท่าไร เนื่องจากลูกเขยคนนี้หลงในลาภยศสรรเสริญ แถมยังหลงในกามอีกต่างหาก แต่ฟอลคอนก็แสดงความจริงใจด้วยการละทิ้งนิกายที่ตนนับถือมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา บิดาจึงเห็นแก่ความรักและตกลงให้สมรสกันได้ หลังการสมรส มารีอาก็ไม่ได้อวดมั่งอวดมี แต่ดำรงตนเป็นภรรยาที่ดี ชักชวนสามีให้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ แต่ถึงกระนั้นชีวิตสมรสของนางก็ไม่ได้ราบรื่น มีเรื่องการนอกใจเกิดขึ้นบ้างอะไรบ้างจากความเจ้าชู้ของพระยาวิชเยนทร์ มิหนำซ้ำชีวิตก็ยังมีช่วงตกอับด้วย หลังจากที่พระยาวิชเยนทร์ถูกตัดสินประหารชีวิต
ทั้งนี้ทั้งนั้น ท้าวทองกีบม้ามีชื่อเสียงมาจากการปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก (เข้าใจว่า ทองกีบม้า ในที่นี้น่าจะมาจากชื่อของนางคือ ตองกีมาร์ แหง ๆ) ระหว่างที่รับราชการอยู่นั้น นางก็ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลากหลายชนิด โดยว่ากันว่าดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกส อันเป็นเชื้อสายดั้งเดิมของนางนั่นเอง มาทำให้เป็นขนมหวานของไทย ผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่ติดตัวมาเข้ากับวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นสยาม นอกจากนั้นก็ยังได้เผยแพร่ความรู้ให้แก่ลูกมือคนอื่น ๆ ด้วย จนตำรับขนมที่ว่านี้ถูกเผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่คนรุ่นหลัง จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีแห่งขนมไทย แต่ประเด็นนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่า จริง ๆ แล้วตำรับขนมไม่ได้มาจากนางซะหน่อย ขนมโปรตุเกสที่ว่าแพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มคนเชื้อสายโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่จะมีนางบนโลกนี้เสียอีก...ก็งงกันไปนะครับ ส่วนขนมที่เชื่อกันว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงมาเป็นขนมหวานของไทยก็ได้แก่ ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง กะหรี่ปั๊บ หม้อแกง สังขยา ลูกชุบ ฯลฯ (สังเกตว่าก็จะเน้นไปที่ขนมที่เป็น ทอง... กับมีส่วนผสมของไข่ซะเยอะเลย)
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://petmaya.com/thai-dessert
เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ
ใครได้ไปเที่ยวพระนครศรีอยุธยาก็คงจะสังเกตว่าเป็นจังหวัดที่ต้อนรับชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ป้ายต่าง ๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมีภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่สามเสมอ และยังมีหมู่บ้านคนญี่ปุ่นหรือ アユタヤ日本人町 (อายุทายะ นิฮนจินมาชิ) ด้วย เป็นเครื่องยืนยันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาในสยามพอสมควรเลยทีเดียว
อาทิตย์ นิ่มนวล TPA Press