เอโดะ Pop Culture


        ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมชัดเจนในตัวเองเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าถ้าถามใครต่อใครถึงเอกลักษณ์ที่เด่น ๆ ของญี่ปุ่นก็คงจะตอบคล้าย ๆ กัน และสิ่งหนึ่งที่ดูจะแข็งแกร่งและเป็นเอกลักษณ์แบบที่ไม่ค่อยมีใครเหมือนก็ต้องยกให้เรื่องของ ศิลปะ เลย เอาว่าเห็นปุ๊บก็ต้องบอกเลยว่า "นี่แหละ ศิลปะญี่ปุ่น" เพราะแบบนี้เองทำให้นึกถึงไปศิลปะภาพวาดแบบหนึ่งที่ "โคตรจะญี่ปุ่น" ซึ่งหลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ่อย ๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าศิลปะแบบนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร เรากำลังจะพูดถึง ภาพอุกิโยะ กัน...เอาละสิ แค่ชื่อก็งงแล้ว มาครับ มาทำความรู้จักกันดีกว่า

        ภาพอุกิโยะนี้เป็นกลุ่มศิลปะของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในสมัยเอโดะ เป็นภาพวาดที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชั้นกลาง หรือก็คือชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปในสมัยนั้นนั่นเอง ซึ่งปกติแล้วศิลปะจะเป็นเรื่องของชนชั้นสูงและปัญญาชน ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงจะเข้าไม่ถึงอะนะครับ (และคงจะไม่เข้าไปยุ่งด้วย เพราะการหาเลี้ยงปากท้องมันสำคัญว่า...) โดยสไตล์ของภาพวาดจะค่อนข้างเน้นไปที่เรื่องราวของสิ่งบันเทิงเริงรมย์ที่ได้รับความนิยมตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงละคร ร้องรำทำเพลง สถานเริงรมย์ ภูมิทัศน์สวย ๆ รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ราชสำนัก และศาสนาด้วย (ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันก็น่าจะคล้าย ๆ กับ Instagram หรือ Pinterest อะไรแบบนั้น) ภาพอุกิโยะมีทั้งแบบที่วาดด้วยมือ แน่นอนว่างานทำมือแบบนี้ก็คงต้องราคาสูง จับต้องยาก แต่เมื่อได้รับความนิยมแพร่หลายออกไปยังกลุ่มคนชั้นกลางและชาวบ้านทั่วไป ก็ได้พัฒนาการพิมพ์เป็นการพิมพ์จาก แม่พิมพ์ไม้ แทน ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองนึกถึงตราปั๊มนะครับ คือแกะไม้เป็นลวดลายที่ต้องการ แล้วเอาสีมาป้ายตามจุดต่าง ๆ บนแม่พิมพ์ แล้วประทับลงบนประดาษหรือผ้า ทำให้ตาสีตาสาก็สามารถหาเสพสื่อชนิดนี้ได้ง่าย
 

 photo TKD_zps8jjov7hh.jpg

53 สถานีบนเส้นทางโทไกโด
Fifty-three Stations of the Toukaidou
ขอบคุณภาพจาก - https://en.wikipedia.org/wiki/Ukiyo-e


        พูดถึงสาระเน้น ๆ กันบ้าง คำว่า อุกิโยะ(憂世)แต่เดิมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ มีความหมายตามตัวอักษรว่า โลกแห่งทุกข์ หลังจากนั้นก็รับเอาความหมายของคำว่า 浮生 (ฝูเซิง) หมายถึง ชีวิตที่ไม่เที่ยง ในภาษาจีนเข้ามารวมกัน กลายเป็นคำว่า 浮世 โดยมีความหมายว่า "โลกนี้ไม่เที่ยง" ตามการสะกดแบบนี้เรื่อยมา และนี่ก็คือที่มาของสไตล์บนภาพวาดนั่นเอง เพราะผู้คนในยุคหลัง ๆ มานี้ใช้ชีวิตกันอย่างบันเทิงเริงรมย์ ไม่ค่อยเคร่งกับเรื่องศาสนาเท่าคนในยุคก่อน เกิดเป็นคอนเซปต์ที่ว่า ชีวิตเป็นของเรา ใช้ซะ ! (อันนี้เพิ่มเติมเอง...) คนก็เลยปล่อยตัวปล่อยใจไปกับเสียงเพลง ให้ใจครื้นเครงบรรเลงล่องไป ไม่ใช่จ้า ! คนก็เลยปล่อยใจกับการหาสิ่งบันเทิงใส่ตัว เพราะทุกสิ่งบนโลกล้วนไม่เที่ยง จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ (คนสมัยนั้นเขาก็ปลงกันได้ไวเหมือนกันนะ) สู้ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ดีกว่า ภาพที่วาดออกมาตามคอนเซปต์ดังกล่าวจึงสะท้อนสิ่งที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ๆ ไม่ว่าจะละครคาบุกิ ซูโม่ เกอิชา หญิงนางโลมทั้งระดับทั่วไปและระดับสูง(花魁)(ว่าไม่ได้นะครับ ภาพอุกิโยะที่เห็น ๆ กันนี้ก็มักจะมีรูปของหญิงนางโลมซะเยอะเลย เพราะผู้ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นก็คือเหล่านางโลมหรือหญิงงามเมืองเหล่านี้แหละครับ วิธีการแต่งหน้าของพวกเธอก็ส่งอิทธิพลมาถึงภาพวาดอุกิโยะและสาว ๆ ญี่ปุ่นในสมัยนั้นด้วย) ลุกลามไปจนถึงภาพที่สื่อถึงการเสพกาม เสพเมถุน ที่เรียกว่า ชุงงะ(春画)กันให้เห็นโจ่งครึ่ม แต่ถ้าวาดโจ่งครึ่มเกินไป ศิลปินผู้วาดคนนั้น ๆ ก็โดนลงโบยได้เหมือนกัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงกลายเป็นคำนิยามของภาพอุกิโยะที่ว่า ภาพของโลกที่น่าบันเทิงใจ
 

 photo COMB_zpsz0p6n0ta.jpg

Comb
ขอบคุณภาพจาก - https://en.wikipedia.org/wiki/Ukiyo-e


        ศิลปินเจ้าของภาพวาดที่ดัง ๆ ในสมัยนั้นก็เช่น คัทสึชิกะ โฮกุไซ เป็นศิลปินนักวาดภาพอุกิโยะและช่างพิมพ์ ผลงานเด่น ๆ ก็คือ ภาพทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ(富嶽三十六景 Fugaku Sanjuurokkei)เป็นซีรีส์ภาพที่สื่อถึงภูเขาฟูจิจากสถานที่ที่ต่างกัน ฤดูที่ต่างกัน และสภาพอากาศที่ต่างกัน และหนึ่งในผลงานในซีรีส์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ภาพคลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ(神奈川沖浪裏 Kanagawa-oki nami ura)เป็นภาพคลื่นขนาดใหญ่ (บ้างก็ว่าเป็น ทสึนามิ บ้างก็ว่าเป็นแค่คลื่นลมแรงมากกว่า) กำลังซัดเรือหลายลำออกจากชายฝั่งเมืองคานางาวะ หรือปัจจุบันคือ เมืองโยโกฮาม่า จังหวัดคานางาวะ โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาฟูจิอยู่ลิบ ๆ
 

 photo GWOK_zpsa35ixzsm.jpg

神奈川沖浪裏
The Great Wave off Kanagawa
ขอบคุณภาพจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Great_Wave_off_Kanagawa
 

 photo RFSWCM_zpsywifclqr.jpg

凱風快晴
South Wind, Clear Sky
ขอบคุณภาพจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Thirty-six_Views_of_Mount_Fuji

อาทิตย์ นิ่มนวล TPA Press