ที่นั่งสูง ที่นั่งต่ำ มารยาทการเลือกที่นั่งสไตล์คนญี่ปุ่น


        ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องตำแหน่งที่นั่งมากกว่าชนชาติใดในโลก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่นั่งในการประชุม รถยนต์ ร้านอาหาร หรือแม้แต่ที่ยืนในลิฟต์ นั่นเป็นเพราะตำแหน่งที่นั่งช่วยบ่งบอกถึงความสัมพันธ์รวมถึงลำดับความอาวุโสระหว่างบุคคลในที่นั้นได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

        ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ ที่นั่งสูง หรือ 上座 (คามิสะ) กันก่อน ที่นั่งสูงคือที่นั่งที่อยู่ด้านในสุดและห่างจากประตูมากที่สุด (1) เป็นตำแหน่งที่นั่งสำหรับแขก ผู้มีอาวุโสมากกว่า หรือผู้มีสถานะสูงกว่า ส่วน ที่นั่งต่ำ หรือ 下座 (ชิโมสะ) คือที่นั่งที่อยู่ใกล้กับประตู ซึ่งมักมีคนเดินเข้าเดินออก ทำให้นั่งไม่สบาย (5) เป็นตำแหน่งที่นั่งสำหรับผู้ที่เป็นฝ่ายต้อนรับ ผู้มีอาวุโสน้อยกว่า หรือผู้มีสถานะต่ำกว่า เอ...แล้วถ้าเป็นห้องที่มีประตู 2 บานล่ะ ควรทำยังไงดี ปัญหานี้แก้ไขได้ง่าย ๆ โดยกำหนดตำแหน่งที่นั่งสูงให้อยู่ไกลจากประตูฝั่งที่มีคนเดินเข้าออกพลุกพล่านมากที่สุด เพื่อให้ผู้ที่นั่งในตำแหน่งที่นั่งสูงได้นั่งในมุมที่เงียบสงบมากที่สุด


TxAYqq.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://mynavi-agent.jp/dainishinsotsu/canvas/2018/03/post-46.html


        กรณีที่เป็นห้องแบบญี่ปุ่น ที่นั่งสูงจะอยู่ใกล้กับมุมพื้นยกระดับโทโคโนมะ หรือ 床の間 (1) ซึ่งในอดีตสร้างขึ้นเพื่อให้พระในวัดใช้เก็บอุปกรณ์สำหรับทำพิธีทางพุทธศาสนา 3 สิ่ง ได้แก่ กระถางธูป แจกัน ที่ปักเทียน รวมถึงใช้แขวนรูปทางพุทธศาสนา ดังนั้น บริเวณดังกล่าวจึงดูเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เหมาะสำหรับให้เจ้าบ้าน แขก ผู้มีอาวุโสมากกว่า หรือผู้มีสถานะสูงกว่านั่งใกล้ ๆ เดิมคนญี่ปุ่นสร้างโทโคโนมะในบ้านของชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ภายหลังก็สร้างไว้ในบ้านของคนทั่วไปด้วย อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งของที่นั่งสูงอาจเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของห้องได้ เช่น ถ้าโทโคโนมะอยู่ใกล้กับประตู ที่นั่งสูงจะย้ายมาอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของโทโคโนมะ และบริเวณใกล้ ๆ กับโทโคโนมะจะกลายเป็นที่นั่งต่ำแทน

        ขอเสริมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกสักนิดว่าเวลาที่ไปเยี่ยมเยียนบ้านคนญี่ปุ่นในฐานะแขก ก็อย่าเพิ่งใจร้อนเดินดุ่ม ๆ เข้าไปนั่งทันที แต่ควรจะนั่งรอตรงตำแหน่งที่นั่งต่ำซึ่งอยู่ใกล้ประตูที่สุดก่อน จนกว่าเจ้าของบ้านจะเชิญให้ไปนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อจะได้ไม่เป็นการเสียมารยาท


TxAN78.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://mynavi-agent.jp/dainishinsotsu/canvas/2018/03/post-46.html


        ต่อไปเรามาดูตำแหน่งที่ยืนในลิฟต์กัน ที่ยืนก็ยึดหลักเดียวกันกับที่นั่งคือ ตำแหน่งด้านในสุดฝั่งแผงควบคุมลิฟต์ (1) ถือเป็นตำแหน่งที่นั่งสูงซึ่งเป็นที่ยืนสำหรับผู้มีอาวุโสสูงสุด ส่วนด้านข้างกันนั้นเป็นที่ยืนสำหรับผู้อาวุโสรองลงมา โดยจะยืนวนตามเข็มนาฬิกา และตำแหน่งที่อยู่ใกล้แผงควบคุมลิฟต์ที่สุด (4) ถือเป็นตำแหน่งที่นั่งต่ำ ซึ่งเป็นที่ยืนสำหรับผู้มีอาวุโสน้อยที่สุดที่ต้องทำหน้าที่กดลิฟต์


TxABgR.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://bizfaq.jp/kamiza-shimoza/%E3%82%A8%E3%83%AC%E3%83%99%E3%83%BC%E3%82%BF%E3%83%BC%E4%B8%8A%E5%BA%A7%E4%B8%8B%E5%BA%A7/


        สำหรับที่นั่งบนรถแท็กซี่ (ซ้าย) ที่นั่งด้านหลังคนขับ (1) เป็นตำแหน่งที่นั่งสูงซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับผู้มีอาวุโสสูงสุด ส่วนผู้อาวุโสอันดับสองจะนั่งริมประตูอีกด้าน ผู้อาวุโสอันดับสามจะนั่งตรงกลาง และที่นั่งด้านข้างคนขับ (4) เป็นตำแหน่งที่นั่งต่ำซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับผู้มีอาวุโสน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นรถยนต์ส่วนตัว (ขวา) ขับไปกันเอง ที่นั่งด้านข้างคนขับจะกลายเป็นที่นั่งสูงสำหรับผู้มีอาวุโสสูงสุด ที่นั่งด้านหลังคนขับจะเป็นที่นั่งสำหรับผู้อาวุโสอันดับสอง ส่วนผู้อาวุโสอันดับสามจะนั่งริมประตูอีกด้าน และที่นั่งตรงกลาง (4) จะเป็นที่นั่งต่ำสำหรับผู้มีอาวุโสน้อยที่สุด


TxAfC0.jpg

ขอบคุณรูปภาพจาก - https://www.hivelocity.co.jp/blog/35646/


        โอ้โฮ... แม้แต่ตำแหน่งที่จะนั่งคนญี่ปุ่นยังมีระเบียบแบบแผน แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และการให้เกียรติแขกผู้มาเยือนและผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า ใครที่ต้องติดต่อประสานงานกับคนญี่ปุ่น ก็อยากให้จดจำมารยาทเหล่านี้เอาไว้ใช้ อย่างน้อย ๆ ความใส่ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ก็ช่วยสร้างความประทับใจระหว่างกันได้ในระดับหนึ่ง


ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press​​​​​​​