ศัพท์วัยรุ่นญี่ปุ่นสุดฮิต #2019
โซเชียลมีเดียของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ไลน์ หรือทวิตเตอร์ ถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของศัพท์วัยรุ่นญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะในระยะหลังมานี้มีศัพท์วัยรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้นและหายไปเป็นจำนวนมากจนจำกันแทบไม่ไหว ศัพท์วัยรุ่นที่เกิดขึ้นใหม่นี้ บางคำก็เป็นคำที่ใช้แสดงความรู้สึกร่วมหรือความรู้สึกเห็นด้วยกับอีกฝ่าย บางคำก็เป็นการย่อคำมาอีกที หรือไม่ก็เป็นการนำคำศัพท์ธรรมดาทั่วไปมาดัดแปลงให้เกิดเป็นคำใหม่
ทีนี้เรามาดูกันว่าศัพท์วัยรุ่นน่ารู้ที่ยังฮิตติดเทรนด์มาจนถึงปี 2019 รวบรวมมา 5 คำแรกมีคำว่าอะไรบ้าง
คำแรกที่ควรรู้เอาไว้เลยก็คือ 草/草生える (คุสะ/คุสะฮาเอรุ) เดิมทีเป็นสแลงที่ใช้กันบนอินเทอร์เน็ต แต่วัยรุ่นญี่ปุ่นนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ ก่อนหน้านี้เวลาต้องการพิมพ์ว่า หัวเราะ ขำ ในแชทจะใช้ว่า (笑) แต่เนื่องจากยุ่งยากเวลาพิมพ์ วัยรุ่นส่วนใหญ่จึงนิยมพิมพ์ว่า "www" ซึ่งเป็นตัวอักษรตัวแรกของคำว่า わら (วาระ หรือ wara) แทน ก็คงเหมือนกับวัยรุ่นไทยที่พิมพ์ว่า 555 แทนเสียงหัวเราะ ฮ่า ฮ่า ฮ่า นั่นเอง แล้วทีนี้พอหัวเราะยาว ๆ หรือขำหนักมาก ก็จะพิมพ์ w ยาว ๆ เป็น wwwwwwwwwwwwww ดูไปดูมาก็เหมือนมีหญ้างอกขึ้นมา จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า 草が生えた/草が生える (คุสะ งะ ฮาเอตะ/คุสะ งะ ฮาเอรุ) เพื่อสื่อความหมายถึงการยิ้ม หัวเราะ หรือขบขัน แทนคำว่า 笑える (วาราเอรุ) และพิมพ์ย่อ ๆ ว่า(草)แทน(笑)ซึ่งถ้าใครพิมพ์คีย์บอร์ดภาษาญี่ปุ่นเป็นจะรู้เลยว่ามันพิมพ์ง่ายกว่ามาก...
ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://jikitourai.net/schoolgirl-use-expression#best10
มาต่อกันที่คำที่ 2 それな (โซเรนะ) เดิมทีศัพท์คำนี้เป็นภาษาถิ่นคันไซ ใช้เป็นคำตอบรับในบทสนทนาหรือที่เรียกว่า あいづち (ไอทซึชิ) วัยรุ่นญี่ปุ่นใช้คำว่า それな เมื่อต้องการบอกอีกฝ่ายว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง หรือมีความรู้สึกร่วมกับอีกฝ่ายอย่างมาก ซึ่งมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า そうだね (โซดาเนะ) หรือ たしかにね (ทาชิคานิเนะ) ลองดูตัวอย่างการใช้กัน
A : このお店、おいしいけど値段が高いね。
โคโนะ โอะมิเสะ โออิชีเคโดะ เนดัน งะ ทาไคเนะ
ร้านนี้อร่อย แต่ราคาแพงเนอะ
B : それな。
โซเรนะ
นั่นสิเนอะ
それな ในบริบทนี้ใช้แสดงการเห็นด้วยของ B ว่า "ฉันก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน"
ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://jikitourai.net/schoolgirl-use-expression#best10
ต่อไปเป็นคำฮิตที่ยังคงติดเทรนด์มาถึงปี 2019 คำที่ 3 คือ まじ卍 (มาจิ) สัญลักษณ์ 卍 ที่อยู่ข้างหลังคือ เครื่องหมายสวัสติกะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา วัยรุ่นญี่ปุ่นใช้ まじ卍 ในหลายความหมาย เช่น แสดงความรู้สึกเบิกบานใจ ลิงโลด สนุกสนาน หรือแสดงถึงสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพวกพ้อง ในกรณีที่ต้องการแสดงถึงสายสัมพันธ์มักจะใช้ว่า 絆卍 (คิซุนะ) หรือในบางครั้งก็แค่พิมพ์เอาไว้เฉย ๆ ไม่ได้ต้องการสื่อความหมายอะไรเป็นพิเศษ เหมือนกับการลงท้ายประโยคในภาษาญี่ปุ่นด้วย 。 หรือ ! นั่นเอง
ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://jikitourai.net/schoolgirl-use-expression#best10
มาถึงคำที่ 4 คือ ワンチャン (วันชัน) ศัพท์คำนี้ย่อมาจากคำว่า ワンチャンス (วันชันสุ) มีความหมายว่า บางที อาจจะ ยังมีความเป็นไปได้อยู่ ความเป็นไปได้ยังไม่ถึงกับเป็นศูนย์ มักตามหลังด้วยคำว่า ある (อารุ) ที่แปลว่า "มี" หรือ ない (ไน) ที่แปลว่า "ไม่มี" นอกจากนี้ยังมีคำที่มีความหมายและวิธีใช้คล้ายคลึงกันอีก 2 คำ นั่นคือ ツーチャン (ซือชัน) ที่ใช้เมื่อต้องการบอกว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นอีก 1 เท่า มีความเป็นไปได้สูงกว่า ワンチャン และ フルチャン (ฟุรุชัน) ที่มีความหมายว่า มีความเป็นไปได้เต็ม 100%
สำหรับคำว่า ワンチャン ถ้าผู้ชายจะนำไปใช้ก็ต้องระวังกันนิดหนึ่งนะ เพราะถ้าใช้ไม่ถูกบริบทอาจสื่อความหมายไปในแง่ลบได้ เช่น ถ้าไปพูดในงานนัดบอดว่า 今日はワンチャンあるかも (เคียว วะ วันชัน อารุ คาโมะ) ワンチャン จะเท่ากับ One Night หรือ ワンナイト (วันไนโตะ) มันจะชวนให้ตีความได้ว่า "คืนนี้อาจจะมีโอกาสได้ใช้เวลาทั้งคืนกับผู้หญิงคนนั้น" ซึ่งคนพูดจะดูเป็นบุคคลอันตรายขึ้นมาทันที ส่วนผู้หญิง ถ้าไปงานนัดบอดแล้วเจอผู้ชายมาพูดแบบนี้ด้วยก็อยู่ห่าง ๆ เอาไว้ก่อน จะปลอดภัยที่สุด
ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://jikitourai.net/schoolgirl-use-expression#best10
สุดท้าย ศัพท์วัยรุ่นสุดฮิตคำที่ 5 คือคำว่า わかりみ (วาคาริมิ) วัยรุ่นญี่ปุ่นมักเติม ○○み (○○มิ) ไว้หลังสำนวนแสดงอารมณ์ความรู้สึกเพื่อสื่อถึงอารมณ์อันลึกซึ้งของตัวเอง เช่น うれしみ (อุเรชิมิ) つらみ (ทสึรามิ) โดยคำว่า わかりみ ถูกนำมาใช้เป็นคำคุณศัพท์ แสดงความหมายว่า เข้าใจเป็นอย่างดี หรือมีความรู้สึกร่วมไปด้วยได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก - https://jikitourai.net/schoolgirl-use-expression#best10
แล้วมาติดตามกันต่อในคราวหน้า ว่าจะมีศัพท์วัยรุ่นคำไหนที่น่าสนใจอีกบ้าง...
ข้อมูลอ้างอิง :
→ https://jikitourai.net/schoolgirl-use-expression#best10
→ https://kotoba-map.com/5969.html
→ http://wakamonolife.net/wakamotokotobaranking/
ภาณิการ์ สุรรังสิกุล TPA Press