"สีเขียว" ในภาษาญี่ปุ่นทำไมเรียกว่า "สีน้ำเงิน" ?
 

        ตอนเริ่มเรียนคำศัพท์เรื่องสี เรามักจะท่องกันว่า (อาโอะ) คือ สีน้ำเงิน และ (มิโดริ) คือ สีเขียว แต่สงสัยกันไหมว่า...ทำไมถึงมีคำศัพท์หลายคำที่ใช้ 青 (อาโอะ) เรียกสิ่งของที่มีสีเขียว เช่น
             
青りんご (อาโอริงโงะ) = แอปเปิลเขียว
              青菜 (อาโอนะ) = ผักใบเขียว
        แม้แต่สัญญาณไฟจราจรสีเขียวก็ยังเรียกว่า 青信号 (อาโอชิงโง) ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า สัญญาณไฟจราจรสีน้ำเงิน !

   

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.edewakaru.com/archives/11449350.html

        แม้ว่าปัจจุบันภาษาญี่ปุ่นจะมีชื่อเรียกสีหลายคำ ทั้งที่เป็นภาษาญี่ปุ่นเองและที่มาจากภาษาอังกฤษโดยเขียนเป็นตัวอักษรคาตากานะ แต่หากย้อนกลับไปดูความเป็นมาจะพบว่า สมัยก่อนภาษาญี่ปุ่นมีชื่อเรียกสีเพียง 4 สีเท่านั้น คือ สีดำ (黒 คุโระ) สีน้ำเงิน (青 อาโอะ) สีแดง (赤 อากะ) และสีขาว (白 ชิโระ)
 

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.nanigoto.net/entry/2016/02/14/232551

        ด้วยเหตุนี้ สีเขียวจึงจัดอยู่กลุ่มเดียวกับสีน้ำเงิน และคำว่า 青 (อาโอะ) ก็กลายเป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ ที่มีสีเขียว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับสีเขียวในธรรมชาติ เช่น
              青草 (อาโอกุสะ) = หญ้าสีเขียว
              青虫 (อาโอมุชิ) = หนอนผีเสื้อ

        จนกระทั่งช่วงปลายสมัยเฮอัน - สมัยคามาคุระ สีน้ำเงินกับสีเขียวถึงได้ถูกแยกออกจากกันเป็นคนละสี และเกิดคำศัพท์ใหม่ที่ใช้เรียกสีเขียวขึ้นมาโดยเฉพาะ นั่นคือคำว่า (มิโดริ)

 

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://colors.japanesewithanime.com/japanese-colors/%E7%B7%91-midori

        นอกจากคำว่า 緑 (มิโดริ) แล้ว ก็มีคำศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อสีเพิ่มขึ้นอีกหลายคำเหมือนอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ แต่คำศัพท์ที่ใช้ 青 (อาโอะ) ในบริบทของสีเขียวก็ยังคงใช้คำเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่ใช้ 緑 (มิโดริ) ในตอนแรก แต่เปลี่ยนมาเป็น 青 (อาโอะ) ในภายหลังด้วย เช่น คำว่า "สัญญาณไฟจราจรสีเขียว" ที่ใน ค.ศ. 1930 มีชื่อเรียกตามกฎหมายครั้งแรกว่า 緑色信号 (มิโดริอิโระชิงโง) แต่บทความในหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเกี่ยวกับการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรในเวลานั้นใช้คำเรียกไฟเขียวว่า 青信号 (อาโอชิงโง) ทำให้คำนี้แพร่หลายและเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป

        ต่อมาใน ค.ศ. 1947 คำว่า 青信号 (อาโอชิงโง) ก็กลายเป็นที่ยอมรับและใช้เป็นชื่อเรียกสัญญาณไฟจราจรสีเขียวตามกฎหมาย อีกทั้งสัญญาณไฟจราจรที่ผลิตขึ้นหลังจาก ค.ศ. 1971 ก็ได้เปลี่ยนสีของไฟเขียวให้ใกล้เคียงกับโทนสีน้ำเงินมากขึ้น และมีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีภาวะตาบอดสีสามารถแยกสีของสัญญาณไฟจราจรสีเขียวกับสีแดงได้ง่ายขึ้น ดังนั้น หากเห็นไฟเขียวของญี่ปุ่นมีสีแตกต่างจากไฟเขียวของประเทศอื่นก็ไม่ต้องแปลกใจ นั่นก็เพราะไฟเขียวของญี่ปุ่นเป็น สีฟ้าอมเขียว หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 青緑 (อาโอมิโดริ) นั่นเอง
 

ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.shutterstock.com/th/image-photo/japan-traffic-light-green-building-trees-363022118

        การเรียกสีเขียวว่าสีน้ำเงินในภาษาญี่ปุ่นเป็นวัฒนธรรมทางภาษาอันเป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นที่สืบทอดจากความเป็นมาในอดีต อย่างไรก็ตาม แม้ว่า 青 (อาโอะ) จะมีความหมายเป็นได้ทั้ง สีน้ำเงิน และ สีเขียว แต่ก็มีคำศัพท์ที่ใช้緑 (มิโดริ) เรียกสิ่งที่เป็นสีเขียวอยู่ไม่น้อย โดยเมื่อนำไปประสมรวมกับคันจิตัวอื่นมักจะออกเป็นเสียงองว่า "เรียวกุ" เช่น 
              緑豆 (เรียวกุโต) = ถั่วเขียว
              緑野 (เรียวกุยะ) = ทุ่งหญ้าสีเขียว

        หรือแม้แต่คำว่า ชาเขียว ในภาษาญี่ปุ่นที่เราเห็นกันบ่อยบนขวดชาเขียว ก็ใช้คำว่า 緑茶 (เรียวกุชะ) จึงเห็นได้ว่าทั้ง 青 (อาโอะ) และ 緑 (มิโดริ) ต่างก็ใช้ในคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับสีเขียวอย่างหลากหลาย หากหมั่นท่องคำศัพท์บ่อย ๆ ก็จะช่วยให้จดจำได้ว่าคำไหนใช้กับคำศัพท์ไหน และช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ขึ้นอีกหลายคำเลยละ !

ข้อมูลอ้างอิง :
-> https://kuruma-news.jp/post/362801
-> https://news.mynavi.jp/techplus/article/20170427-green_light/
-> https://www.stv.jp/tv/dosanko_eve/tokushu/u3f86t000004itju.html


กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press