3 เรื่องน่ารู้ของวันหมดอายุบนฉลากอาหารญี่ปุ่น


        ทุกครั้งที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งสำคัญที่ต้องดูให้ดีคือ วันหมดอายุ สำหรับบนฉลากอาหารของญี่ปุ่นมักพบคำว่า 消費期限 (Shouhikigen) หรือ 賞味期限 (Shoumikigen) บอกวันหมดอายุของอาหาร แต่ทั้งสองคำนี้ต่างก็มีความหมายและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน การเข้าใจความหมายของวันหมดอายุที่เขียนบนฉลากอาหารจะช่วยให้กินอาหารได้อย่างปลอดภัยและลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งลงได้
        มาดูกันว่าบนฉลากอาหารของญี่ปุ่น มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันหมดอายุบ้างนะ ?

1. 消費期 (Shouhikigen) = วันหมดอายุการบริโภค

        คำว่า 消費期限 (Shouhikigen) มาจากการประสมคันจิคำว่า 消費 (Shouhi) = การบริโภค และคำว่า 期限 (Kigen) = วันที่ครบกำหนด เมื่อรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกันจึงมีความหมายตรงกับคำว่า "วันหมดอายุ" (EXP - Expiry Date) ซึ่งก็คือวันสุดท้ายที่จะบริโภคอาหารนั้นได้อย่างปลอดภัย
        ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้คำว่า 消費期限 (Shouhikigen) หรือ วันหมดอายุ (EXP) จะเป็นอาหารที่เสียง่ายและเสื่อมสภาพเร็วภายในระยะเวลา 5 วันนับจากวันที่ผลิต เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวกล่อง ข้าวปั้น ขนมปัง เค้ก แซนด์วิช หลังจากเลยวันและเวลาที่ระบุบนฉลากแล้วจึงไม่ควรบริโภคอาหารนั้นต่อ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://nakayakids.com/2019/05/2172/


2. 賞味期 (Shoumikigen) = วันหมดอายุความอร่อย

        คำว่า 賞味期限 (Shoumikigen) มาจากการประสมคันจิคำว่า 賞味 (Shoumi) = ความอร่อย และคำว่า 期限 (Kigen) = วันที่ครบกำหนด เมื่อรวมทั้งสองคำเข้าด้วยกันจึงมีความหมายตรงกับคำว่า "ควรบริโภคก่อน" (BB - Best Before) ซึ่งก็คือวันสุดท้ายที่จะรักษาคุณภาพอาหารและรสชาติที่ดีที่สุดของอาหารนั้นได้
        ผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้คำว่า 賞味期限 (Shoumikigen) หรือ ควรบริโภคก่อน (BB) จะเป็นอาหารที่เสียยากและเก็บไว้ได้นาน เช่น นม ไข่สด อาหารแห้ง อาหารแช่แข็ง ขนมขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง เครื่องดื่มบรรจุขวดพลาสติก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากบริโภคภายในระยะเวลาที่ระบุบนฉลาก คุณภาพและรสชาติของอาหารจะดีที่สุด หากบริโภคหลังจากนั้นความสดใหม่และรสชาติของอาหารจะลดลงไป แต่อาหารจะยังไม่หมดอายุในทันที ถ้าสภาพของอาหารยังไม่บูดหรือเสียก็นำมาบริโภคหรือปรุงอาหารได้ตามปกติ แต่ถ้าอยากคงคุณภาพและรสชาติที่ดีที่สุดของอาหารเอาไว้ ก็ควรรีบกินก่อนที่จะเลยวันหมดอายุความอร่อยนะ
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://news.yahoo.co.jp/byline/iderumi/20201102-00205872


3. คำนวณวันหมดอายุด้วย 0.8

        ผลิตภัณฑ์อาหารของญี่ปุ่นที่ระบุวันหมดอายุด้วย 賞味期限 (Shoumikigen) มักแสดงวันหมดอายุที่สั้นกว่าความเป็นจริง เพราะผู้ผลิตจะกำหนดวันหมดอายุความอร่อยด้วยการตั้งค่าปัจจัยด้านความปลอดภัยที่ 0.8 เช่น หากอาหารมีระยะเวลารักษาคุณภาพได้ 10 วัน เมื่อนำมาคูณด้วย 0.8 จะได้เท่ากับ 10 x 0.8 = 8 วัน ด้วยเหตุนี้ บนฉลากอาหารจะแสดงวันหมดอายุความอร่อยว่าควรบริโภคภายในระยะเวลา 8 วัน แต่ในความเป็นจริงแล้วสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยภายในระยะเวลา 10 วัน
        อย่างไรก็ตาม คุณภาพของอาหารอาจลดลงก่อนถึงวันหมดอายุได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บรักษาอาหาร ดังนั้น ก่อนกินอาหารทุกครั้งจึงควรสังเกตว่า ลักษณะภายนอก กลิ่น และรสชาติของอาหารแปลกไปหรือไม่ หากพบว่าอาหารบูดหรือเสียแล้ว ห้ามกินเด็ดขาด !
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.shoukaken.co.jp/news/2631/


        วันหมดอายุบนฉลากอาหารของญี่ปุ่นจะเรียงลำดับจาก ปี.เดือน.วัน เช่น หมดอายุวันที่ 15 เมษายน 2022 ก็จะระบุว่า 22.4.15 หรือ 2022.04.15 ทั้งนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้ระบุวันหมดอายุด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นอาหารที่คุณภาพและรสชาติไม่ค่อยเสื่อมสภาพหากเก็บรักษาอย่างเหมาะสม เช่น หมากฝรั่ง (ชนิดไม่มีส่วนผสมของสารไซลิทอล) น้ำตาล เกลือ ไอศกรีม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่แสดงวันหมดอายุ แต่จะระบุเพียง ปีและเดือนที่ผลิต เท่านั้น หรือที่ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 製造年月 (Seizounengetsu) นั่นเอง
        ดังนั้น หากพบตัวเลขที่ระบุบนฉลากอาหาร ก็ดูให้ดีก่อนนะว่าเป็นวันที่ผลิต วันหมดอายุ หรือวันที่ควรบริโภคก่อน จะได้กินอาหารอย่างอร่อย ปลอดภัย และทันท่วงทีก่อนที่จะหมดอายุ (o^^o)
 


ขอบคุณรูปภาพจาก – http://motsupedia.com/sake/3425/


ข้อมูลอ้างอิง :
-> https://mainichigahakken.net/life/article/post-2888.php
-> https://www.pref.kanagawa.jp/docs/e8z/cnt/f6576/p1085364.html
-> https://www.shoukaken.co.jp/news/2631/

กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press