เทคนิคช่วยจำจากตัวเลขภาษาญี่ปุ่น

        แม้ว่าอักษรคันจิในภาษาญี่ปุ่นจะมีเสียงอ่านจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการจดจำ แต่สำหรับเสียงอ่านตัวเลขในภาษาญี่ปุ่นที่ออกเสียงได้หลายวิธี ทั้งเสียงอ่านแบบญี่ปุ่น (คุนโยมิ) แบบจีน (องโยมิ) และแบบภาษาอังกฤษ กลับเป็นเทคนิคที่ช่วยให้จดจำตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ด้วยวิธีการเล่นคำที่เรียกว่า 語呂合わせ (โกโรอาวาเสะ) ซึ่งเป็นการรวมเสียงพยางค์แรกของตัวเลขให้สื่อเป็นความหมายต่าง ๆ เช่น ตัวเลข 39 ออกเสียงได้ว่า さんきゅう (ซังคิว) แปลว่า ขอบคุณ (Thank you), ตัวเลข 4649 ออกเสียงได้ว่า よろしく (โยโรชิกุ) แปลว่า ยินดีที่ได้รู้จัก, ตัวเลข 889 ออกเสียงได้ว่า はやく (ฮายากุ) แปลว่า เร็ว ๆ เป็นต้น

ตารางการออกเสียงตัวเลขในภาษาญี่ปุ่น
ขอบคุณรูปภาพจาก – https://en.m.wikipedia.org/wiki/Japanese_wordplay


        ความสนุกของการเล่นคำรูปแบบนี้จึงอยู่ที่การถอดรหัสตัวเลขให้เป็นคำที่มีความหมาย อีกทั้งยังนำไปใช้ประโยชน์กับการจดจำตัวเลขยาว ๆ หรือปีในประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย ลองมาดูกันว่าตัวเลขต่อไปนี้เมื่อแทนที่ด้วยเสียงของตัวเลขแล้ว จะกลายเป็นคำว่าอะไรบ้างนะ ?

1. ค่า Pi = 3.14159265
        ค่า Pi (พาย) หรือ π คือค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ที่มาจากอัตราส่วนของเส้นรอบวงกับความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางวงกลม (22/7) ซึ่งได้ค่าประมาณอยู่ที่ 3.14159265 โดยตัวเลขนี้จะใช้ในสูตรการคำนวณโจทย์คณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับวงกลมหรือทรงกลม เช่น การหาพื้นที่ของวงกลม การหาปริมาตรของทรงกลม เป็นต้น    
        แม้ว่าตัวเลขที่มีทศนิยมจะจำได้ไม่ง่ายนัก แต่หากลองจำตัวเลขเหล่านี้ว่า 産医師 (ซังอิชิ = 314) 異国に (อิโกกุนิ = 1592) 向こう (มุโก = 65) ซึ่งมีความหมายว่า "สูติแพทย์มุ่งหน้าไปต่างประเทศ" แล้วถอดเสียงกลับไปเป็นตัวเลข จะทึ่งเลยละว่าจู่ ๆ ก็จำตัวเลขยาว ๆ นี้ได้แล้ว !

 หมายเหตุ :
คำว่า 産医師 (ซังอิชิ) มาจากคำเต็มว่า 産科医師 (ซังกาอิชิ) = สูติแพทย์
 
 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.shutterstock.com/


2. ปีที่ค้นพบทวีปอเมริกา = ค.ศ. 1492

        เทคนิคการจดจำด้วยการเล่นเสียงของตัวเลข ไม่เพียงใช้กับการจำสูตรคณิตศาสตร์เท่านั้น แต่ยังใช้กับการจดจำปีในประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย เช่น ค.ศ. 1492 ปีที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาเลียนค้นพบทวีปอเมริกา สามารถแทนเสียงเป็นตัวเลขภาษาญี่ปุ่นได้ว่า いいよ!(อีโย = 14) (คุนิ = 92) พร้อมต่อท้ายด้วยคำว่า が見えた!(กะมิเอตะ) ก็จะได้เป็นประโยคที่มีความหมายสอดคล้องกันว่า "ดีจัง ! เจอประเทศแล้ว !" และช่วยให้จดจำตัวเลขคริสต์ศักราชได้ตามไปด้วย
 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Christopher_Columbus


3. ระยะทางของการวิ่งมาราธอน = 42.195 กิโลเมตร

        ระยะทางของการวิ่งมาราธอนมาจากเรื่องราวในตำนานสมัยกรีกโบราณที่นายทหารชาวกรีกชื่อว่า "ไฟดิปพิดีส" (Pheidippides) วิ่งจากสนามรบในเมืองมาราธอนไปยังเมืองเอเธนส์ระยะทางราว 25 ไมล์ หรือประมาณ 40 กิโลเมตร โดยไม่หยุดพัก เพื่อนำข่าวเรื่องการรบชนะฝ่ายเปอร์เซียมาแจ้งให้ชาวเมืองทราบ และเมื่อเขาส่งสารว่า “เราชนะแล้ว” ได้สำเร็จ ก็ทรุดลงและสิ้นใจไปเพราะความเหนื่อยล้า
        ด้วยเหตุนี้ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกช่วงแรก ๆ จึงได้กำหนดระยะทางของการวิ่งมาราธอนเป็น 40 กิโลเมตร ตามระยะทางวิ่งของไฟดิปพิดีส ก่อนที่สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Amateur Athletic Federation - IAAF) จะปรับระยะทางของการวิ่งมาราธอนให้เป็น 42.195 กิโลเมตร อย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา เทคนิคการจำตัวเลขนี้ก็คือการจำเป็นประโยคว่า 死に (ชินิ = 42) 行く (อิกุ =19) GO (โก = 5) มีความหมายตรงตัวว่า "ไปตาย" เหมือนกับเรื่องราวการวิ่งมาราธอนในตำนานนั่นเอง

 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.onthisday.com/people/pheidippides


        เมื่อได้รู้จักการเล่นคำแบบ 語呂合わせ (โกโรอาวาเสะ) แล้ว จะเห็นได้ว่าเทคนิคการจำตัวเลขเป็นเรื่องราวสามารถช่วยให้จดจำตัวเลขได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการจำอักษรคันจิที่ใช้เทคนิคการจำคันจิจากภาพ ตัวอย่างเช่น อักษร 休 ที่มีความหมายว่า "หยุด, พัก" หากจำว่าเป็นภาพคนกับต้นไม้ประกอบกันเหมือนกับคนยืนพักอยู่ใต้ต้นไม้ ก็จะช่วยให้นึกภาพตามได้ง่ายและจดจำได้แม่นยำขึ้น  
        สำหรับใครที่กำลังมองหาวิธีช่วยจำคันจิแบบสนุก ๆ พร้อมได้เรียนรู้อักษรคันจิและคำศัพท์ในเวลาเดียวกัน สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรมก็ขอแนะนำสื่อการเรียนรู้คันจิรูปแบบใหม่ "บัตรช่วยจำคันจิจากภาพ" ซึ่งประกอบด้วยคันจิระดับต้นจำนวน 303 ตัว ภาพประกอบสีสันสดใส เนื้อเรื่องช่วยจำตัวอักษร และคำศัพท์มากมายที่ประกอบขึ้นจากคันจิตัวนั้น ๆ ผู้เรียนที่สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ตามร้านหนังสือทั่วไป ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. ทั้ง 2 สาขา (สุขุมวิท 29 และพัฒนาการ 18) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อทางออนไลน์ที่ https://tpabook.com/product/kanji-flip-cards/ กันได้เลย

ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Japanese_wordplay
https://en.wikipedia.org/wiki/Marathon#Origin
https://th.wikipedia.org/wiki/พาย_(ค่าคงตัว)
https://www.tofugu.com/japanese/goroawase-japanese-numbers-wordplay/
https://tenro-in.com/mediagp/28123/

กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press