สดใสคึกคักต้อนรับปีใหม่

        ภาษาญี่ปุ่นมีคำเลียนเสียง (擬音語 กิองโงะ) และคำเลียนสภาพ (擬態語 กิไตโงะ) จำนวนมากที่ใช้อธิบายลักษณะสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการบอกลักษณะของการกระทำ สิ่งของ อารมณ์ความรู้สึก หรือสภาพอากาศ หากใช้คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพอธิบายเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้สื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้อย่างเห็นภาพและเข้าใจมากยิ่งขึ้น
        คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพสามารถใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์รอบตัว แม้แต่กิจกรรมเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็สามารถใช้คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพสื่อความหมายให้ชัดเจนขึ้นได้ ลองมาดูกันว่าตัวอย่างสถานการณ์ต่อไปนี้ จะมีศัพท์คำไหนที่เกี่ยวข้องบ้างนะ ?


การทำความสะอาดบ้านต้อนรับปีใหม่

        ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี คนญี่ปุ่นมีธรรมเนียมการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (大掃除 โอโซจิ) เพื่อเตรียมต้อนรับเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ (年神様 โทชิกามิซามะ) โดยเชื่อกันว่าเทพเจ้าจะมาเยือนบ้านแต่ละหลังในช่วงปีใหม่ และนำพาความโชคดีมาให้แก่คนในครอบครัว                    
        การทำความสะอาดครั้งใหญ่ช่วงสิ้นปีเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ ซึ่งในสมัยนั้นกำหนดให้ตรงกับวันที่ 13 ธันวาคมของทุกปี โดยเน้นที่การทำความสะอาดคราบเขม่าจากควันไฟที่สะสมบนฝ้าเพดาน เนื่องจากสมัยก่อนคนญี่ปุ่นสร้างความอบอุ่นภายในบ้านด้วยการเผาฟืนในเตาผิงอิโรริ (เตาผิงที่พื้นห้อง) ส่วนปัจจุบันแม้จะไม่ได้กำหนดวันทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่แน่นอน และไม่ได้เผาฟืนในบ้านกันแล้ว แต่ก็ยังคงยึดถือธรรมเนียมการทำความสะอาดครั้งใหญ่ช่วงสิ้นปีปัดกวาดเช็ดถูบริเวณที่เข้าถึงยาก เช่น ฝ้าเพดาน ขอบหน้าต่าง ร่องพัดลมระบายอากาศ รวมถึงจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อขจัดสิ่งสกปรกในบ้านให้หมดไป และพร้อมที่จะเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความรู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่น


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/


        คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพที่เกี่ยวข้องกับความสะอาด เช่น ぴかぴか (ปิกาปิกะ) แปลว่า "เอี่ยมอ่อง, เป็นประกาย, มันวับ"
        ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น 家をぴかぴかに掃除して、新年を迎えましょう! (อิเอโอะ ปิกาปิกานิ โซจิชิเตะ ชินเน็นโอะ มุกาเอมาโช) มีความหมายว่า "มาทำความสะอาดบ้านให้สะอาดเอี่ยมอ่อง ต้อนรับปีใหม่กันเถอะ !"


การกินฉลองวันปีใหม่

        วัฒนธรรมการกินอาหารในช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนญี่ปุ่นมักมีความหมายที่สื่อถึงความโชคดี สุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาว เช่น การกินโซบะในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม หรือที่เรียกว่าโซบะข้ามปี (年越しそば โทชิโกชิโซบะ) ตามความเชื่อที่ว่า การกินโซบะในวันสิ้นปีเปรียบเสมือนการตัดสิ่งที่ไม่ดีในปีนี้ทิ้งไป เพราะเส้นโซบะมีลักษณะที่ตัดให้ขาดง่ายกว่าเส้นอื่น ๆ อีกทั้งยังมีรูปทรงเรียวยาวสื่อถึงการมีอายุยืนยาวอีกด้วย
        และเมื่อเข้าสู่เช้าวันปีใหม่คนญี่ปุ่นจะกินอาหารที่มีโมจิเป็นส่วนประกอบ เช่น ซุปโอโซนิ (ซุปโมจิ) เนื่องจากโมจิเป็นขนมมงคลที่ใช้ในเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ และการกินโมจิก็สื่อถึงการขอพรให้มีอายุยืนยาวเหมือนกับเนื้อแป้งของโมจิที่ยืดและเหนียวนุ่มนั่นเอง

 


ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.irasutoya.com/


        คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของอาหาร เช่น しこしこ (ชิโกชิโกะ) แปลว่า "เหนียวนุ่ม"
        ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น お雑煮の餅はしこしこしておいしいです。(โอโซนิโนะ โมชิวะ ชิโกชิโกชิเตะ โออิชีเดส) มีความหมายว่า "โมจิในซุปโอโซนิเหนียวนุ่มอร่อย"


การอวยพรปีใหม่

        明けましておめでとうございます (อาเกมาชิเตะ โอเมเดโต โกไซมัส) คือคำอวยพร "สวัสดีปีใหม่, สุขสันต์วันปีใหม่" ในภาษาญี่ปุ่น และมักต่อท้ายด้วยสำนวน 今年もよろしくお願いします  (โคโตชิโมะ โยโรชิกุ โอเนไงชิมัส) มีความหมายว่า "ปีนี้ก็ขอฝากตัวด้วยนะ" หรือพูดย่อสั้น ๆ แบบกันเองได้ว่า あけおめ!ことよろ!(อาเกโอเมะ ! โคโตโยโระ !) นิยมใช้พูดทักทายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงช่วงกลางเดือนมกราคม
        นอกจากนี้ ยังมีอีกคำอวยพรที่มักใช้พูดทักทายช่วงปลายเดือนธันวาคมก่อนถึงวันที่ 31 ธันวาคม นั่นคือ よいお年をお迎えください (โยอิโอโทชิโอะ โอมุกาเอกุดาไซ) หรือพูดแบบสั้น ๆ กับเพื่อนและคนสนิทได้ว่า よいお年を (โยอิโอโทชิโอะ) มีความหมายว่า "ขอให้ได้พบกับปีที่ดี" เพื่อเป็นการอวยพรให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่เหลือของปีโดยสวัสดิภาพและได้พบกับความโชคดีในปีใหม่ ส่วนวันสิ้นปี 31 ธันวาคม สามารถใช้สำนวน 来年もよろしくお願いします (ไรเนนโมะ โยโรชิกุ โอเนไงชิมัส) มีความหมายว่า "ปีหน้าก็ขอฝากตัวด้วยนะ" เป็นคำทักทายส่งท้ายปีที่สร้างความรู้สึกดีให้แก่ผู้ฟังได้เช่นกัน


ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.irasutoya.com/


        คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเบิกบานใจ เช่น うきうき (อุกิอุกิ) แปลว่า "คึกคัก, อารมณ์ดี"
        ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น 明日から正月休みなので、みんなうきうきしています。(อาชิตาการะ โชงัทสึยาสุมินาโนเดะ มินนะ อุกิอุกิชิเตอิมัส) มีความหมายว่า "ทุกคนท่าทางคึกคัก เพราะว่าพรุ่งนี้เป็นวันหยุดปีใหม่"

        เมื่อได้เห็นตัวอย่างการใช้คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพในกิจกรรมเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว จะเห็นได้ว่าคำศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่ช่วยบรรยายลักษณะของอารมณ์ความรู้สึกและสภาพของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งจัดว่าเป็นประเภทคำที่ใช้บ่อยและพบได้ทั่วไปในภาษาญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรมจึงได้จัดทำหนังสือ "คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพภาษาญี่ปุ่น" ที่รวบรวมคำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพไว้มากถึง 233 คำ มาจัดเป็นหมวดต่าง ๆ ตามสถานการณ์ พร้อมตัวอย่างประโยคและภาพประกอบน่ารัก ๆ ให้เรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลินและเข้าใจง่าย (ดูรายละเอียดหนังสือได้ที่ - https://tpabook.com/product/giongo-gitaigo/)

        ผู้เรียนที่สนใจสามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ตามร้านหนังสือทั่วไป ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. ทั้ง 2 สาขา (สุขุมวิท 29 และพัฒนาการ 18) และสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ tpabook.com หรือแอป Shopee (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabookcentre) และแอป Lazada (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabook) กันได้เลย

ข้อมูลอ้างอิง :
หนังสือ "คำเลียนเสียงและคำเลียนสภาพภาษาญี่ปุ่น" โดย อาจารย์สุภา ปัทมานันท์
https://e-concern.com/happynewyear/
http://hotel-midori.com/midori_blog/archives/7078
https://kotobank.jp/word/煤払い-83872
https://livejapan.com/en/article-a0000817/
https://www.justonecookbook.com/ozoni-zoni-japanese-new-year-mochi-soup/
https://www.t-east.jp/blog/post-8268/


กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press