3 คำชมภาษาญี่ปุ่นกับคำว่า "มาก" ที่ต่างกัน


        คำชมต่าง ๆ ที่ทำให้ใจฟู หากเติมคำว่า "มาก" เข้าไป ก็ยิ่งทำให้รู้สึกดีขึ้นไปอีก !! เช่น ดีมาก สวยมาก เก่งมาก แต่คำว่า "มาก" ในภาษาญี่ปุ่นมีอยู่หลายคำ บางคำก็ใช้แทนกันได้ บางคำก็มีวิธีใช้แตกต่างกันไปตามบริบท แล้วอย่างนี้ควรจะเลือกใช้คำไหนดีนะ ?
        ลองมาทำความรู้จักคำว่า "มาก" ในภาษาญี่ปุ่นให้มากขึ้นผ่านตัวอย่างคำชมต่อไปนี้กันดูดีกว่า ~

 

1. とても勉強になりました (โทเตโมะ เบงเกียวนิ นาริมาชิตะ)
= ได้เรียนรู้ (จากคุณ) มากเลย

        เวลาได้รับคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากผู้อื่น นอกจากการกล่าวขอบคุณแล้ว หากกล่าวชื่นชมอีกฝ่ายไปด้วยว่า とても勉強になりました。ありがとうございます。(โทเตโมะ เบงเกียวนิ นาริมาชิตะ อาริงาโตโกไซมัส) = "ได้เรียนรู้ (จากคุณ) มากเลย ขอบคุณนะคะ/ครับ" ก็จะช่วยสร้างความประทับใจให้อีกฝ่ายมากยิ่งขึ้น                     


    ขอบคุณรูปภาพจาก – https://nihongonoe.com/


        โดยคำว่า とても (โทเตโมะ) ในที่นี้มีความหมายว่า "มาก" เป็นคำกริยาวิเศษณ์บอกระดับที่ใช้สื่อสารได้ทั่วไป และทำหน้าที่ขยายคำคุณศัพท์ให้สื่อความหมายได้ชัดเจนขึ้น เช่น

とても美味しい (โทเตโมะ โออิชี) = อร่อยมาก
とても可愛い (โทเตโมะ คาวาอี) = น่ารักมาก


2. 大変よくできました (ไทเฮน โยกุ เดกิมาชิตะ)
= "ทำได้ดีมาก, ยอดเยี่ยมมาก"

        คำชมต่อมาเป็นสำนวนยอดฮิตที่พบได้ในโรงเรียนญี่ปุ่น และแม้แต่ในอิโมจิของสมาร์ตโฟนก็ยังมี นั่นคือ 大変よくできました。 (ไทเฮน โยกุ เดกิมาชิตะ) = "ทำได้ดีมาก, ยอดเยี่ยมมาก" ซึ่งเป็นข้อความในตราประทับรูปดอกไม้สีขาวขอบสีแดงที่คุณครูใช้ประทับตราลงในชิ้นงานหรือใบแสดงผลสอบของเด็ก ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการชมเชยที่ทำคะแนนได้ยอดเยี่ยม


     ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/


        แม้ว่า 大変 (ไทเฮน) จะเป็นคำที่มีหลากหลายความหมาย โดยมักสื่อไปในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็น "ลำบาก" "แย่" หรือ "รุนแรง" แต่หากใช้ในบริบทของคำกริยาวิเศษณ์บอกระดับจะมีความหมายว่า "มาก" และเป็นคำที่เป็นทางการมากกว่า とても (โทเตโมะ) ด้วยเหตุนี้ 大変 (ไทเฮน) จึงเป็นคำที่นิยมใช้ในการติดต่อทางธุรกิจ เช่น

大変お世話になりました。(ไทเฮน โอเซวานิ นาริมาชิตะ)
 = ได้รับความกรุณา (จากคุณ) มากเหลือเกิน
大変お待たせ致しました。(ไทเฮน โอมาตาเซอิตาชิมาชิตะ)
= ขออภัยเป็นอย่างมากที่ทำให้รอ


3. だいぶ上手になりました (ไดบุ โจซุนิ นาริมาชิตะ)
= เก่งขึ้นมาก (กว่าที่ผ่านมา) เลยนะ

        ปิดท้ายด้วยคำชมที่แฝงการให้กำลังใจอย่าง だいぶ上手になりました。 (ไดบุ โจซุนิ นาริมาชิตะ) = "เก่งขึ้นมาก (กว่าที่ผ่านมา) เลยนะ" เหมาะสำหรับใช้กล่าวชมว่าอีกฝ่ายมีพัฒนาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา


ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/


        だいぶ (ไดบุ) เป็นคำกริยาวิเศษณ์บอกระดับว่า "มาก" ที่แตกต่างจากคำอื่น ๆ ตรงที่บริบทของการใช้คำนี้จะเปรียบเทียบระหว่าง 2 ช่วงเวลา และใช้บอกปริมาณมากได้อีกด้วย เช่น

日本に来た時より日本語がだいぶ上手になりました。
(นิฮงนิ คิตาโตกิโยริ นิฮงโงงะ ไดบุ โจซุนิ นาริมาชิตะ)
= เก่งภาษาญี่ปุ่นขึ้นกว่าตอนที่เพิ่งมาญี่ปุ่นมากทีเดียว

おじいさんにだいぶお小遣いをもらいました。
(โอจีซังนิ ไดบุ โอโคทซึไกโอะ โมไรมาชิตะ)
= ได้รับค่าขนมจากคุณปู่มากขึ้น (กว่าที่เคยได้)

 

        การชมเชยไม่เพียงแต่เป็นวิธีการพูดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งคำกริยาวิเศษณ์ก็นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของประโยคที่ช่วยถ่ายทอดความรู้สึกของผู้พูดและบอกรายละเอียดให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากคำว่า "มาก" ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ก็ยังมีคำกริยาวิเศษณ์อีกมากมายที่ใช้กันบ่อยในภาษาญี่ปุ่น ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้ได้เพิ่มเติมจากหนังสือ "คำกริยาวิเศษณ์ภาษาญี่ปุ่น" ที่รวบรวมคำกริยาวิเศษณ์ไว้มากถึง 186 คำ แบ่งเป็นหัวข้อย่อยตามหมวดหมู่ความหมายของคำกริยาวิเศษณ์แต่ละคำ พร้อมอธิบายวิธีใช้ เปรียบเทียบคำที่มีความหมายคล้ายกัน และยกตัวอย่างประโยคอย่างเข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นทุกระดับ สามารถใช้เป็นคู่มือเสริมการเรียนได้ตั้งแต่ระดับต้นไปจนถึงระดับสูง (ดูรายละเอียดหนังสือได้ที่ - https://tpabook.com/product/fukushi/)

        จำหน่ายแล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือทั่วไป ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. ทั้ง 2 สาขา (สุขุมวิท 29 และพัฒนาการ 18) หรือสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ tpabook.com แอป Shopee (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabookcentre) และแอป Lazada (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabook) ส่วนรูปแบบ E-book ก็สามารถสั่งซื้อที่เว็บไซต์ mebmarket.com หรือเว็บไซต์ ookbee.com กันได้เลย :D


ข้อมูลอ้างอิง :
หนังสือ "คำกริยาวิเศษณ์ภาษาญี่ปุ่น" โดย อาจารย์สุภา ปัทมานันท์
https://cityworks.jp/?p=24428
https://japanesetactics.com/taihen-yoku-dekimashita-meaning-in-japanese
https://smartlog.jp/225971
https://www.yutonsmaile.com/entry/2020/06/28/102726


กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press