คำสแลงญี่ปุ่นกับความหมายแฝงที่เปลี่ยนไป
แม้ว่าคำสแลงจะเป็นภาษาที่ไม่เป็นทางการ และมักเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็มีคำสแลงหลายคำที่กลายเป็นวลีฮิตและใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นคำที่เกิดขึ้นใหม่ตามกระแสสังคม หรือคำที่ความหมายเปลี่ยนไปเมื่อใช้เป็นคำสแลง เช่น
"นก" ในบริบทของคำสแลง หมายถึง "พลาด, หลุดมือ" เหมือนกับนกที่บินจากไป
"แกง" ในบริบทของคำสแลง หมายถึง "หลอก, แกล้ง" คล้ายกับความหมายของคำว่า "ต้มตุ๋น"
หากไม่รู้ความหมายแฝงของศัพท์คำนั้น ๆ ก็อาจทำให้เข้าใจความหมายผิดเพี้ยนไปได้ ซึ่งคำสแลงรูปแบบนี้ก็มีในภาษาญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นตัวอย่างคำสแลงต่อไปนี้ ~
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
1. ウケる
เริ่มด้วยคำสแลงที่มาจากคำกริยา 受ける (อุเกรุ) มีความหมายโดยทั่วไปว่า "ได้รับ, เข้าสอบ" แต่เมื่อใช้ในบริบทของคำสแลงมักเขียนด้วยอักษรคาตากานะผสมกับฮิรางานะเป็น ウケる (อุเกรุ) และใช้สื่อถึง 2 ความหมาย
ความหมายแรกของ ウケる (อุเกรุ) คือ "ได้รับความนิยม, เป็นที่ถูกอกถูกใจ" เหมือนกับการแสดงที่ได้รับเสียงปรบมือหรือเสียงชื่นชมจากผู้ชม
ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น
この番組は主婦の間ではウケているようだ。
(โคโนะ บังกุมิวะ ชูฟุโนะ ไอดาเดวะ อุเกเตอิรุ โยดะ)
= ดูเหมือนว่ารายการทีวีรายการนี้จะได้รับความนิยมในหมู่แม่บ้าน
อีกความหมายหนึ่งของ ウケる (อุเกรุ) คือ "ฮา, ตลก, ขำ" เหมือนกับการเล่นมุกแล้วได้รับเสียงหัวเราะ แต่ถ้าเล่นมุกแล้วแป้ก ไม่ฮา คนฟังไม่รับมุก จะใช้เป็นรูปปฏิเสธว่า ウケない (อุเกไน) ซึ่งเป็นคำสแลงที่คนญี่ปุ่นนิยมใช้เช่นเดียวกัน
ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น
こんなんウケるわ。
(คนนัน อุเกรุวา)
= อันนี้ตลกสุด ๆ
ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
2. すべる
ต่อกันด้วยคำสแลงที่มีความหมายตรงข้ามกับ ウケる (อุเกรุ) = "ตลก" และมีความหมายคล้ายกับคำว่า ウケない (อุเกไน) = "ไม่ตลก" นั่นคือคำว่า すべる (ซุเบรุ)
ความหมายโดยทั่วไปของ すべる (ซุเบรุ) แปลว่า "ลื่น" และใช้ในความหมายว่า "สอบตก, สอบไม่ผ่าน" ได้ด้วย แต่เมื่อใช้เป็นคำสแลงจะหมายถึง "มุกฝืด, มุกแป้ก" โดยความหมายนี้เป็นคำที่นักแสดงตลกเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงปี 1990 จนกลายมาเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น
そのネタは完全にすべってたよなー。
(โซโนะ เนตาวะ คันเซนนิ ซุเบตเตตาโยนา)
= มุกนี้ฝืดสุด ๆ เลยสินะเนี่ย
ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
3. サクラ
ตัวอย่างคำสแลงคำสุดท้ายในบทความนี้ ขอเสนอคำว่า サクラ (ซากุระ) ที่ไม่ได้แปลว่าดอกซากุระ แต่หมายถึง "หน้าม้า" ที่ถูกจ้างมาปะปนกับผู้ชมคนอื่น ๆ เพื่อให้การแสดงดูครึกครื้น หรือแกล้งทำเป็นลูกค้ามาซื้อของ ต่อคิวให้ร้านดูคึกคัก เพื่อช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าคนอื่นอยากซื้อตาม
ที่มาของคำนี้สันนิษฐานกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ เนื่องจากในสมัยนั้นมีคนที่ทำหน้าที่เป็นหน้าม้าคอยส่งเสียงเชียร์นักแสดงในโรงละคร เพื่อแลกกับการชมละครคาบุกิฟรี และเมื่อชมละครจบก็จะรีบออกไปอย่างรวดเร็ว คนกลุ่มนี้จึงได้ชื่อเรียกว่า サクラ (ซากุระ) โดยเปรียบกับการชมซากุระที่สามารถชมได้ฟรีไม่เสียเงิน อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศให้สถานที่นั้นราวกับดอกซากุระที่บานและร่วงโรยไปในเวลาสั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซากุระในบริบทของคำสแลงจะมีที่มาจากการเปรียบเปรยกับดอกซากุระ แต่หากเขียนเป็นคันจิจะเขียนว่า 偽客 ต่างกับคันจิของดอกซากุระที่เขียนว่า 桜
ตัวอย่างการใช้ในประโยค เช่น
ラーメン屋さんの開店のときの行列って、サクラも並んでるらしいよ。
(ราเมนยาซังโนะ ไคเตนโนะ โทกิโนะ เกียวเรทสึตเตะ ซากุราโมะ นารันเดรุราชีโย)
= ได้ยินว่าแถวยาว ๆ ตอนฉลองเปิดร้านใหม่ของร้านราเมนก็มีพวกหน้าม้าไปยืนต่อคิวด้วยนะ
ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
คำสแลงเป็นภาษาวัยรุ่นที่นิยมใช้ในภาษาพูดและพบได้บ่อยตามสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ หนังสือ หรือโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการเรียนรู้คำสแลงในภาษาต่างประเทศจึงมีส่วนช่วยให้เสพสื่อได้อรรถรสมากขึ้น และสื่อสารภาษานั้น ๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนเจ้าของภาษา
ผู้ที่สนใจสามารถเรียนรู้คำสแลงภาษาญี่ปุ่นได้เพิ่มเติมจากหนังสือ "J-Slang ศัพท์แสงสแลงญี่ปุ่น" ที่รวบรวมคำสแลงจากการใช้งานจริงของชาวญี่ปุ่นกว่า 100 คำ รูปเล่มขนาดกะทัดรัด พร้อมอธิบายความหมาย ที่มาของคำสแลง และยกตัวอย่างบทสนทนา เพื่อให้เข้าใจบริบทการใช้คำสแลงคำนั้น ๆ อย่างเข้าใจง่าย เนื้อหาอ่านสนุก เรียนรู้ได้อย่างเพลิดเพลิน (ดูรายละเอียดหนังสือได้ที่ - https://tpabook.com/product/j-slang/)
จำหน่ายแล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือทั่วไป ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. ทั้ง 2 สาขา (สุขุมวิท 29 และพัฒนาการ 18) หรือสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ tpabook.com แอป Shopee (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabookcentre) และแอป Lazada (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabook) ส่วนรูปแบบ E-book ก็สามารถสั่งซื้อที่เว็บไซต์ mebmarket.com หรือเว็บไซต์ ookbee.com กันได้เลย :D
ข้อมูลอ้างอิง :
→ หนังสือ "J-Slang ศัพท์แสงสแลงญี่ปุ่น" โดย นางิโกะ นิชิงะคิ, ดร.ศิริลักษณ์ ศิริมาจันทร์
→ https://dict.longdo.com/
→ https://meaning-book.com/blog/20190430160704.htm
→ http://zokugo-dict.com/13su/suberu.htm
กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press