ศัพท์คันจิที่มากับโชค
คำว่า 福 ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า "ฝู" และภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า "ฟูกุ" มีความหมายมงคลว่า "ความสุข, โชคดี, โชคลาภ" เป็นอักษรคันจิที่นิยมใช้เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความโชคดี รวมถึงยังพบในศัพท์คันจิที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนำโชคต้อนรับปีใหม่อีกด้วย อย่างเช่นศัพท์คันจิต่อไปนี้
1. 福袋 (ฟูกุบุกุโระ)
ช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ ร้านค้าต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมการขายสินค้าครั้งแรกของปี เรียกว่า 初売り (ฮัทสึอุริ) โดยการจัดโปรโมชันลดราคาสินค้า รวมถึงจัดชุดสินค้าลงในถุงสีทึบที่เรียกว่า 福袋 (ฟูกุบุกุโระ) หรือ "ถุงโชคดี" ที่ผู้ซื้อจะไม่เห็นว่ามีอะไรอยู่ข้างในถุง แต่ความคุ้มค่าของถุงโชคดีอยู่ตรงที่สินค้าในถุงจะมีมูลค่ามากกว่าราคาที่จ่ายไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนมากมายต่างตั้งตารอไปต่อแถวซื้อถุงโชคดีกันตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด เรียกได้ว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดของญี่ปุ่นที่กระตุ้นยอดขายช่วงต้นปีได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/
福袋 (ฟูกุบุกุโระ) มาจากคำว่า 福 (ฟูกุ) = "โชคดี" ประสมกับคำว่า 袋 (ฟูกุโระ) = "ถุง" ว่ากันว่าที่มาของชื่อ 福袋 (ฟูกุบุกุโระ) ตั้งตามชื่อเรียกถุงสมบัติใบใหญ่ของเทพไดโกกุเตน หนึ่งในเจ็ดเทพเจ้าแห่งโชคลาภของญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่า 福袋 (ฟูกุบุกุโระ) เป็นถุงที่เต็มไปด้วยความโชคดีและความสุข ดังนั้น ถุงโชคดีที่วางขายในช่วงปีใหม่จึงเป็นเหมือนสิ่งนำโชคต้อนรับปีใหม่ที่มอบความสุขให้แก่ผู้ซื้อนั่นเอง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
2. 福笑い (ฟูกุวาไร)
สุภาษิตญี่ปุ่นมีคำกล่าวที่ว่า 笑う門には福来る。 (วาราอุ คาโดนิวะ ฟูกุ คิตารุ) = “ความโชคดีจะมาเยือนครอบครัวที่มีเสียงหัวเราะ” ว่ากันว่าที่มาของสุภาษิตนี้มาจากการละเล่น 福笑い (ฟูกุวาไร) หรือ “เกมกระดาษรูปใบหน้า” ที่เล่นกันในครอบครัวช่วงปีใหม่ โดยผู้เล่นจะใช้ผ้าปิดตาขณะเรียงชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ตา จมูก ปาก ลงบนภาพใบหน้าโล่ง ๆ ซึ่งใบหน้าที่นิยมนำมาใช้เล่นในเกมนี้คือ ใบหน้าของหน้ากากตัวตลกชื่อดังอย่าง おかめ (โอกาเมะ) ตัวตลกหญิงหน้าตายิ้มแย้ม และ ひょっとこ (ฮตโตโกะ) ตัวตลกชายปากจู๋ เพราะตัวละครทั้งสองตัวนี้ต่างได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนของความสุข
ขอบคุณรูปภาพจาก – https://www.irasutoya.com/
福笑 (ฟูกุวาไร) มาจากคำว่า 福 (ฟูกุ) = "โชคดี" ประสมกับคำว่า 笑い (วาไร) = "หัวเราะ" การละเล่นนี้เป็นเกมเรียกเสียงหัวเราะที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัยเอโดะ และกลายเป็นการละเล่นในวันปีใหม่ตั้งแต่สมัยเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยการละเล่น 福笑い (ฟูกุวาไร) ในทุกวันนี้ มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น เพราะไม่ได้มีเพียงใบหน้าของตัวตลกทั้งสองเท่านั้น แต่ยังมีใบหน้าของตัวการ์ตูนอื่น ๆ อีกด้วย
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
3. 福茶 (ฟูกุฉะ)
นอกจากวัฒนธรรมการกินโมจิต้อนรับปีใหม่แล้ว คนญี่ปุ่นยังมีประเพณีการดื่มชาที่ชื่อว่า 福茶 (ฟูกุฉะ) หรือ 大福茶 (โอบุกุฉะ) ด้วย ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ส่วนประกอบของชา นั่นคือการใส่บ๊วยดองและสาหร่ายคอมบุมัดปมลงในน้ำชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อที่ว่าหากดื่มชามงคลนี้ในวันปีใหม่จะมีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี
ขอบคุณรูปภาพจาก –https://news.yahoo.co.jp/expert/articles/ce681a5d3f626ae3b6045cbb50e11236326a1226
เดิมทีชื่อชานี้เขียนเป็นคันจิว่า 皇服茶 (โอบุกุฉะ) = "ชาที่จักรพรรดิทรงดื่ม" เพราะเป็นชาที่จักรพรรดิมูรากามิในสมัยเฮอันทรงดื่มในวันขึ้นปีใหม่ แต่ต่อมาเมื่อประเพณีการดื่มชาในวันขึ้นปีใหม่แพร่หลายสู่คนทั่วไป จึงเปลี่ยนวิธีการเขียนคันจิเป็นคำที่ออกเสียงเหมือนกัน โดยการประสมคำว่า 大福 (โอบุกุ) = "โชคดี" กับ 茶 (ฉะ) = "น้ำชา" เข้าด้วยกัน กลายเป็น 大福茶 (โอบุกุฉะ) = "ชาแห่งความโชคดี"
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ศัพท์คันจิต่าง ๆ ข้างต้นนี้ล้วนมาจากการประสมคันจิคำว่า 福 (ฟูกุ) กับคันจิอีกคำหนึ่ง ทำให้เกิดเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายใหม่ นอกจากนี้ คันจิที่ออกเสียงเหมือนกันยังสามารถนำไปใช้สร้างคำใหม่ด้วยการเล่นเสียงของคำได้อีกด้วย การเรียนรู้คันจิจึงเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้จดจำความหมายของคำศัพท์ได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ผู้เรียนที่สนใจสามารถศึกษาได้เพิ่มเติมจากหนังสือซีรีส์ "คันจิ JLPT" แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ "350 คันจิ JLPT N3" "550 คันจิ JLPT N2" และ "800 คันจิ JLPT N1" เหมาะสำหรับใช้เรียนรู้คันจิและศัพท์คันจิได้ในเล่มเดียวกัน อีกทั้งคันจิและคำศัพท์เหล่านี้ได้คัดสรรมาแล้วอย่างพิถีพิถันว่ามีโอกาสออกสอบสูง ใช้เป็นคู่มือทบทวนก่อนสอบ JLPT ได้อย่างสะดวก
จำหน่ายแล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือทั่วไป ศูนย์หนังสือ ส.ส.ท. (พัฒนาการ 18) หรือสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ tpabook.com แอป Shopee (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabookcentre) และแอป Lazada (ค้นหาร้านค้าชื่อ tpabook) กันได้เลย ~
ข้อมูลอ้างอิง :
→ https://biz.trans-suite.jp/21061
→ https://www.e-cha.co.jp/contents/daifuku-cha/
→ https://jpnculture.net/fukuwarai/
→ https://pando.life/hiyori/article/50037
→ https://www.ponparemall.com/theme/fukubukuro/yurai/
กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press