เทคนิคจัดกระเป๋าฉุกเฉินแบบญี่ปุ่น

     แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไร อีกทั้งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย สาธารณูปโภคขัดข้อง เช่น ไฟฟ้า ประปา การขนส่ง หรือการสื่อสารหยุดชะงัก การเตรียม "กระเป๋าฉุกเฉิน" ให้พร้อมอยู่เสมอเมื่อจำเป็นต้องอพยพออกจากอาคาร จึงเป็นวิธีการรับมือกับภัยพิบัติที่ช่วยให้เอาชีวิตรอดได้ในยามฉุกเฉิน

     ในกระเป๋าฉุกเฉินควรใส่อะไรเตรียมไว้บ้าง มีเทคนิคจัดกระเป๋าอย่างไร ลองมาดูแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวแบบญี่ปุ่นกัน !

- - - - - - - - - - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - 

1. เช็กลิสต์ของที่ควรมีติดกระเป๋าฉุกเฉิน

     ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมักเตรียม "กระเป๋าฉุกเฉิน" วางไว้บริเวณใกล้ประตูทางเข้าออกบ้าน ในรถ หรือในจุดที่หยิบได้สะดวก โดยนิยมใช้กระเป๋าเป้สะพายหลังเป็นกระเป๋าฉุกเฉิน ในภาษาญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า 防災リュック (bousairyukku) แปลตรงตัวว่า "กระเป๋าเป้ป้องกันภัยพิบัติ" เพื่อที่จะได้สามารถใช้มือทั้งสองข้างได้สะดวก แน่นอนว่าหากใส่ของเยอะไปก็อาจทำให้กระเป๋าหนักและอพยพไม่คล่องตัว การเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินจึงควรตุนน้ำดื่ม อาหาร และของใช้เท่าที่จำเป็น อย่างเช่นของในเช็กลิสต์ 15 รายการที่ควรมีติดกระเป๋าฉุกเฉินต่อไปนึ้
 

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.pref.hiroshima.lg.jp/lab/topics/20220706/01/

     ☐ 1. น้ำดื่ม (ขนาด 500 มิลลิลิตร x 3 ขวด)
     ☐ 2. อาหารที่เก็บได้นานและรับประทานง่าย (อาหารกระป๋อง, คุกกี้, ช็อกโกแลต ฯลฯ)
     ☐ 3. ไฟฉาย / ไฟฉายคาดหัว
     ☐ 4. วิทยุพกพา
     ☐ 5. ถ่านไฟฉาย
     ☐ 6. พาวเวอร์แบงค์
     ☐ 7. เงินสด (อย่าลืมพกแบงก์ย่อยด้วยนะ) 
     ☐ 8. ถุงปัสสาวะแบบพกพา (Portable Toilet)
     ☐ 9. เสื้อผ้า
     ☐ 10. ผ้าเช็ดตัว
     ☐ 11. เสื้อกันฝน
     ☐ 12. สมุดบันทึกยา
     ☐ 13. นกหวีด
     ☐ 14. หน้ากากอนามัย
     ☐ 15. ถุงนอน

(อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์เมืองฮิโรชิมา)
 

     นอกจากเช็กลิสต์ข้างต้นนี้ กระเป๋าฉุกเฉินของแต่ละคนสามารถเพิ่มเติมสิ่งของได้ตามความจำเป็นของตัวเอง เช่น ของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้หญิง ผ้าอ้อมสำหรับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ ยาประจำตัว ชุดปฐมพยาบาล รวมถึงเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทาง อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงน้ำหนักของกระเป๋าเมื่อใส่ของลงไปแล้วไม่ให้หนักจนเกินไป ตามคำแนะนำคือน้ำหนักกระเป๋าฉุกเฉินของผู้หญิงไม่ควรเกิน 10 กิโลกรัม และน้ำหนักกระเป๋าฉุกเฉินของผู้ชายไม่ควรเกิน 15 กิโลกรัม

​​​​​​​- - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - 

2. ของหนักไว้ด้านบน ของเบาไว้ด้านล่าง

     เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นอาจทำให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ และผู้ประสบภัยจำเป็นต้องเดินระยะไกลไปยังศูนย์พักพิงหรือจุดที่ปลอดภัยด้วยตัวเอง ดังนั้น ลำดับของการจัดสิ่งของลงในกระเป๋าฉุกเฉินให้สามารถสะพายกระเป๋าเป้ได้สบายขึ้นก็สำคัญเช่นกัน

     หลักสำคัญคือ ของหนักไว้ด้านบน ของเบาไว้ด้านล่าง โดยเริ่มจากใส่ของที่มีน้ำหนักเบา เช่น ผ้าขนหนู เสื้อผ้า ฯลฯ ไว้ที่ก้นกระเป๋าก่อน แล้วค่อยใส่ของที่มีน้ำหนักมาก เช่น น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง ฯลฯ ไว้ด้านบนของกระเป๋า เพราะเมื่อของที่มีน้ำหนักมากอยู่ใกล้กับไหล่จะช่วยให้กระเป๋าเป้แนบกับหลังและลดการถ่วงของกระเป๋าลงข้างล่าง ทำให้รู้สึกว่ากระเป๋าเบากว่าการใส่ของที่มีน้ำหนักมากไว้ด้านล่างสุดนั่นเอง
 

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.nhk.or.jp/bousai/articles/21698/

​​​​​​​- - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - 

3. โคมไฟจากขวดน้ำ

     ในช่วงเกิดภัยพิบัติอาจทำให้มีพื้นที่ที่ไฟฟ้าดับหรือจำเป็นต้องงดจ่ายไฟเพื่อความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การจุดเทียนก็อาจเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ดังนั้น หากเรามีไฟฉายและขวดน้ำพลาสติกอยู่ใกล้ตัว ลองมาทำโคมไฟจากขวดน้ำกันดูดีกว่า อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม ได้แก่ ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกที่ใส่น้ำ ไฟฉาย เทปกาว และกรรไกร

     สำหรับวิธีทำก็ง่าย ๆ เริ่มจากนำขวดน้ำพลาสติกเปล่ามาวางคู่กับไฟฉาย แล้วตัดขวดให้สูงกว่าไฟฉายเล็กน้อย จากนั้นนำเทปกาวมาแปะที่ขอบตัดของขวดเพื่อป้องกันไม่ให้บาดมือ ตามด้วยใส่ไฟฉายที่เปิดไฟแล้วลงไปในขวด แล้ววางขวดน้ำพลาสติกที่ใส่น้ำไว้ด้านบนไฟฉายอีกที เพียงเท่านี้แสงสว่างจากไฟฉายที่สะท้อนผ่านน้ำในขวดก็จะสว่างขึ้นมากกว่าเดิม !
 

ขอบคุณรูปภาพจาก
https://www.nhk.or.jp/bousai/articles/33295/

     การเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินไม่เพียงเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการรับมือกับภัยพิบัติอื่น ๆ เมื่อจำเป็นต้องอพยพไปยังที่ปลอดภัยได้อีกด้วย แม้ว่าภัยธรรมชาติจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่หากเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เราก็สามารถผ่านทุกสถานการณ์ไปได้อย่างปลอดภัย

​​​​​​​​​​​​​​- - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - ​​​​​​​- - - - - - - - 

ข้อมูลอ้างอิง :

https://asobi-bosai.com/blog/202412143763/
https://www.city.hiroshima.lg.jp/english/emergency/1029781/1031803/index.html

https://www.nhk.or.jp/bousai/articles/21698/
https://www.nhk.or.jp/bousai/articles/33295/
https://www.pref.hiroshima.lg.jp/lab/topics/20220706/01/

กุลวรากร เอกอัครากุล TPA Press
4 เม.ย. 68