สี่คนหาม สามคนแห่ : พิธีศพในประเทศญี่ปุ่น


       พิธีศพของญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่บนความเชื่อของศาสนาพุทธแบบชินโต โดยหลังจากเสียชีวิตจะมีพิธี 末期の水 (matsugo no mizu) คือ การนำน้ำมาล้างปากของผู้ตาย สถานที่ประกอบพิธีศพจะมีการจัดโต๊ะประดับด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และเครื่องหอม ใกล้กับร่างของผู้เสียชีวิต และจะนำมีดมาวางไว้บนหน้าอกของผู้เสียชีวิตเพื่อขับไล่วิญญาณร้ายหรือสิ่งไม่ดีไม่ให้มายุ่งกับร่าง หลังจากนั้นบรรดาคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตจะอยู่ข้ามคืนพร้อมกันต่อหน้าศพก่อนการบรรจุหรือทำพิธีต่อไป แล้วจึงนิมนต์พระมาสวดมนต์ให้และตั้งสมญานาม (戒名 kaimyou) ให้ใหม่ ซึ่งจะเป็นชื่อของผู้ตายหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว เสร็จแล้วจะให้ผู้ร่วมพิธีเผาเครื่องหอมและรับประทานอาหารเล็กน้อย พร้อมกับกล่าวไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต สมัยก่อน การอยู่ข้ามคืนเป็นเพื่อนศพจะอยู่กันต่อหน้าศพแล้วจึงบรรจุศพลงในโลง แต่ในปัจจุบันจะบรรจุศพลงในโลงก่อนเนื่องจากเรื่องสุขอนามัย
 

 photo E070E320E190E280E1E01_bloggangcom_zps4b36a95c.jpg


ขอบคุณภาพจาก - bloggang.com


        หลังจากบรรจุศพลงในโลงแล้ว ผู้ร่วมพิธีจะทำการไว้อาลัยและทำพิธีกล่าวอำลาครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้เสียชีวิต บางครั้งพิธีศพอาจจะทำกันเป็นการภายในเฉพาะคนในครอบครัวและญาติสนิทเท่านั้น โดยผู้ร่วมพิธีทั่วไปจะเข้าร่วมเฉพาะพิธีกล่าวอำลาเท่านั้น เมื่อพิธีกล่าวอำลาเสร็จสิ้นก็จะนำศพไปเผายังฌาปนสถาน และในวันรุ่งขึ้นจะเก็บอัฐิเพื่อนำกลับบ้านหรือนำไปฝังต่อไป

การไปร่วมพิธีศพ

         เสื้อผ้าสำหรับไปร่วมงานศพ ผู้ชายจะใส่สูทสีดำ เสื้อเชิ้ตสีขาว เนกไทสีดำ ส่วนผู้หญิงจะใส่เดรสสีดำทั้งชุด การแต่งตัวต้องสุภาพเพราะถือเป็นการให้เกียรติผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย เครื่องประดับถ้าจะใส่ต้องไม่ฉูดฉาด ส่วนมากนิยมเป็นไข่มุก ถ้าใส่แหวนประดับเพชรพลอยต้องหมุนด้านที่มีเพชรพลอยเข้าไปไว้ทางฝ่ามือ กรณีใส่สร้อยควรใส่เพียงเส้นเดียว ไม่ใส่ซ้อนทับกัน 2 เส้น
         สิ่งที่นำติดตัวไปด้วยคือ ลูกประคำ สำหรับคล้องมือเวลาฟังพระสวดมนต์ที่เรียกว่า 数珠 (juzu) และซองเงินช่วยซึ่งจะใส่เงินช่วยเป็นเลขคี่ ตั้งแต่ 3,000 - 30,000 เยน หรือมากกว่านั้นตามกำลังทรัพย์ แต่ถ้าไม่ใช่ญาติสนิทหรือคนใกล้ชิดควรใส่ไม่เกิน 10,000 เยน เพื่อไม่ให้เจ้าภาพต้องลำบากใจ
    
        อนึ่ง ลูกประคำและการจ่าหน้าซองจะแตกต่างกันไปตามศาสนาของผู้ตาย ซึ่งเวลาไปซื้อลูกประคำกับซองใส่เงิน ทางร้านค้ามักจะให้คำแนะนำในการเลือกซื้อที่เหมาะสมกับพิธี ทั้งนี้ ซองใส่เงินที่มีจำหน่ายในปัจจุบันก็มีแบบสำเร็จรูปคือ
จ่าหน้าซองเสร็จสรรพเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ร่วมงาน
 

 photo E070E320E190E280E1E02_yaplog-jp_zpsbafab192.gif


ขอบคุณภาพจาก – yaplog.jp


        เมื่อเข้าไปในงานควรไปลงนามในสมุดร่วมงานที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้พร้อมกับยื่นซองเงินช่วยให้ และไม่ควรพูดเสียงดัง ควรพูดด้วยเสียงค่อย ๆ เพื่อเป็นการแสดงความเสียใจ เมื่อเดินไปคำนับศพให้เดินไปข้างใดข้างหนึ่งของพรมที่ปูไว้ ไม่ควรเดินไปตรงกลางพรม และเมื่อได้รับของชำร่วยห้ามพูดว่า ขอบคุณ เพราะจะหมายถึงการแสดงความยินดีที่ได้รับของชำร่วย อาจใช้วิธีก้มศีรษะแล้วรับมาโดยไม่พูดอะไรก็ได้ หรือพูดว่า いただきます。(itadakimasu) หรือ お疲れ様でした。(otsukaresamadeshita) แทน

เกร็ดอื่น ๆ

        ส่วนมากสถานประกอบพิธีกรรมที่ทางเจ้าภาพใช้บริการจัดงานศพจะเป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการจัดงานศพเต็มรูปแบบ ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่ 200,000 - 300,000 เยน ยิ่งจำนวนแขกมากเท่าไร ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงมากขึ้นไปด้วย
        ต้องดูวันตามปฏิทินด้วยว่า วันที่จะจัดงานศพตรงกับวันที่ไม่สมควรจัดงานหรือไม่ วันที่ถืออย่างมากว่าจะไม่จัดงานคือ วันที่เรียกว่า 友引 (tomobiki) แปลว่า เพื่อน มาจากคำว่า 引く (hiku) แปลว่า ดึง รวมกันแล้วหมายถึง “ดึงเพื่อน” หรือ “พาเพื่อนไปด้วย” หมายความว่า ถ้าจัดงานวันนี้แล้วผู้เสียชีวิตจะมาพาเพื่อนหรือคนรู้จักให้ตายตามกันไป จึงจะไม่จัดงานในวันดังกล่าว

หมายเหตุ : บางท้องที่หรือบางจังหวัดในประเทศญี่ปุ่นอาจมีพิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่นเดียวกับประเทศไทย


เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press