โนกุจิ ฮิเดโยะ : อยู่เพื่อวิทยาศาสตร์ จากไปเพื่อมนุษยชาติ


        ธนบัตรของประเทศญี่ปุ่นมักจะเป็นภาพบุคคลสำคัญในอดีตที่เคยทำคุณงามความดีหรือคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึง บนธนบัตร 1,000 เยน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2000 ได้นำภาพของบุคคลสำคัญท่านหนึ่งพิมพ์ลงบนหน้าธนบัตร บุคคลท่านนั้นคือ ดร.โนกุจิ ฮิเดโยะ (野口 英世 Noguchi Hideyo) นักวิจัยแบคทีเรียชาวญี่ปุ่น ผู้สามารถเพาะเชื้อ Spirochete Pallida อันเป็นต้นเหตุของโรคซิฟิลิสได้สำเร็จ และอุทิศตนเพื่อวิจัยโรคร้ายต่าง ๆ จนวาระสุดท้ายของชีวิต
 

 photo E420E190E010E380E080E3401_matomenaverjp_zps8459cf48.jpg

 
ธนบัตรมูลค่า 1,000 เยน
ขอบคุณรูปภาพจาก -
matome.naver.jp


        โนกุจิ เกิดเมื่อปี 1876 ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัด ฟุคุชิมะ เมื่ออายุได้ 1 ขวบครึ่ง เขาได้พลัดตกลงไปในเตาหลุม ทำให้มือซ้ายของเขาโดนไฟลวกจนพุพองและไม่สามารถใช้งานได้เหมือนคนปกติ ต่อมาเมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น โนกุจิต้องอดทนกับการถูกเพื่อน ๆ กลั่นแกล้งและล้อเลียนเรื่องมือซ้ายทุกวัน แต่เขาก็ตั้งใจเล่าเรียนจนสามารถสอบได้คะแนนสูงสุดของชั้น และได้เข้าเรียนต่อในชั้นประถมศึกษาตอนปลายด้วยความช่วยเหลือจากคุณครู

        จุดเปลี่ยนที่สำคัญเกิดขึ้น เมื่อโนกุจิ อายุได้
15 ปี คุณครูและเพื่อนร่วมชั้นของโนกุจิช่วยกันเรี่ยไรเงินเป็นค่าผ่าตัดรักษามือซ้ายให้เขา โดยผู้ที่ทำการผ่าตัดให้คือ คุณหมอคานาเอะ วาทานาเบะ (渡部  Kanae Watanabe) ซึ่งจากการผ่าตัดในครั้งนั้นทำให้โนกุจิสามารถกลับมาใช้มือซ้ายได้อีกครั้ง แต่ทำได้เพียงแค่จับประคองสิ่งของ ไม่สามารถทำงานที่ละเอียดอ่อนได้ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โนกุจิรู้สึกชื่นชมในอาชีพแพทย์และตัดสินใจว่าในอนาคตจะประกอบอาชีพเป็นแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้คนยากไร้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกันกับเขา

        หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โนกุจิเดินทางไปพบกับคุณหมอวาทานาเบะ เพื่อขอให้รับเข้าทำงานที่โรงพยาบาลไคโยะในตำแหน่ง นักการภารโรง เพื่อแลกกับการได้ศึกษาวิชาแพทย์ไปด้วย เขาทุ่มเทชีวิตให้กับการศึกษาวิชาแพทย์อย่างหนัก แต่ก็ยังคงทำงานในฐานะนักการภารโรงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และยังศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ไปพร้อมกันด้วย ต่อมา เพื่อนของคุณหมอวาทานาเบะ ชื่อว่า คุณหมอชิวากิ โมริโนะสุเกะ
(血脇守之助 Chiwaki Morinosuke) มาเยี่ยมเยียน ซึ่งคุณหมอชิวากิเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟัน และเปิดสอนวิชาด้านทันตแพทย์อยู่ที่โตเกียว คุณหมอชิวากิรู้สึกทึ่งในความสามารถของโนกุจิอย่างมาก จึงชักชวนให้ไปสอบคัดเลือกเป็นแพทย์ที่โตเกียว

        ในปี
1896 โนกุจิได้เดินทางไปสอบคัดเลือกเป็นแพทย์ที่โตเกียว ระหว่างที่รอการสอบ เขาได้ขอทำงานที่โรงเรียนทันตแพทย์ทาคายามะ โดยทำหน้าที่เป็นนักการภารโรงและร่ำเรียนเพิ่มเติม ในช่วงนั้นเขาต้องอาศัยอยู่ในโรงเรียนเนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะหาที่อยู่ข้างนอกได้ และยังคงสวมเสื้อผ้าเก่าซอมซ่อเพราะมีอยู่ชุดเดียว กระทั่งวันสอบก็ยังไม่มีแม้แต่ชุดหูฟังแพทย์ (Stethoscope) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือจำเป็นสำหรับแพทย์ จนต้องขอยืมเอาจากผู้คุมสอบ การสอบนั้นมีผู้สอบผ่านเพียง 4 คน จากจำนวนผู้เข้าสอบ 80 คน และเขาก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้น ที่โรงเรียนทันตแพทย์ทาคายามะ เขาได้รับการเลื่อนชั้นเป็นอาจารย์ผู้สอนท่ามกลางความงงงวยของบรรดานักเรียน ที่จู่ ๆ นักการภารโรงก็กลายมาเป็นอาจารย์ แต่เขาก็แสดงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับของนักเรียนทุกคน
 

 photo E420E190E010E380E080E3402_fukushima-netcom_zpsdf15b9ff.jpg

 
ขอบคุณรูปภาพจาก -
fukushima-net.com


        โนกุจิยังคงศึกษาวิชาแพทย์เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาควบคู่ไปกับความก้าวหน้าในอาชีพ ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกดูถูกเหยียดหยามเหมือนสมัยเด็ก แต่เขาก็หนักแน่นพอที่จะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองผ่านการกระทำจนเป็นที่ยอมรับ ต่อมา เขาเริ่มสนใจสาขาวิชาระบาดวิทยาและทำการวิจัยอย่างจริงจัง และเมื่อโอกาสมาถึง เขาก็ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อทำการวิจัยจากคำเชิญชวนของ ดร.ไซมอน เฟลกซ์เนอร์ (Dr. Simon Flexner) ที่นั่น โนกุจิได้รับมอบหมายจาก ดร.เฟลกซ์เนอร์ ให้ศึกษาวิจัยเรื่องพิษงู และเขาก็สามารถวิจัยพิษงูออกมาเป็นผลสำเร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี หลังจากนั้นชื่อของโนกุจิก็เป็นที่ยอมรับไปทั่วสหรัฐอเมริกาและในระดับโลก โนกุจิยังคงศึกษาวิชาการแพทย์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านระบาดวิทยา โดยในปี 1911 เขาประสบความสำเร็จในการเพาะเชื้อ Spirochete ของโรคซิฟิลิศได้เป็นคนแรกของโลก

        ปี 1918 โนกุจิเดินทางไปยังเอกวาดอร์ และพบกับเชื้อโรคไข้เหลือง
(Yellow Fever) จึงได้ศึกษาวิจัยและพัฒนายารักษาโรคนี้จนสำเร็จ แต่แล้วในปี 1927 โรคไข้เหลืองก็ระบาดไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกาอีกครั้งและรุนแรงกว่าเดิม ยารักษาโรคก็ใช้ไม่ได้ผล ทำให้โนกุจิต้องเดินทางไปทวีปแอฟริกาเพื่อวิจัยให้แน่ชัดว่าเพราะเหตุใด แม้ว่าก่อนเดินทางจะมีคนคัดค้านเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยก็ตาม หลังจากเดินทางมาที่ทวีปแอฟริกา โนกุจิก็พบว่าโรคไข้เหลืองที่กำลังระบาดนั้นเป็นเชื้อโรคคนละตัวกับครั้งก่อน เขาจึงเริ่มลงมือค้นคว้าวิจัยอย่างหนักจนกระทั่งตัวเองได้รับเชื้อไข้เหลืองไปด้วย และเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยโรคดังกล่าว ในปี 1928 ที่เมืองอักกรา (Accra) ประเทศกานา
 

 photo E420E190E010E380E080E3403_E2B0E190E310E070E2A0E370E2D0E1E0E340E210E1E0E4C0E250E070E020E480E320E270E010E320E230E400E2A0E350E2_zpsfa5a0783.jpg

 
หนังสือพิมพ์
THE NEW YORK TIMES ลงข่าวการเสียชีวิตของ ดร.โนกุจิ
ขอบคุณรูปภาพจาก -
fukushima-net.com


เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press