เบงเค : ยืนตายดีกว่าอยู่อย่างคุกเข่า
ตามประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงยุคสงครามเฮจิ มีพระนักรบที่มีชื่อเสียงอย่างมากทั้งในเรื่องฝีมือการต่อสู้ และความจงรักภักดี นามว่า ไซโตะ มุซาชิโบ เบงเค (西塔武蔵坊弁慶 Saito Musashibo Benkei) หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า เบงเค เขาเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกนำมาทิ้งไว้ที่วัดในป่าและถูกชุบเลี้ยงโดยพระในวัด เบงเคในวัยเด็กผมยาวรุงรัง ฟันยาว ตัวใหญ่เกินวัย ด้วยบุคลิกที่ดุดัน ทำให้ชาวบ้านแถววัดนั้นเรียกเขาว่า โอนิวากะ (鬼若 Oniwaka) ซึ่งแปลว่า ลูกยักษ์ นั่นเอง เบงเคบวชเป็นพระตั้งแต่เด็กและมีโอกาสได้ฝึกฝนวิชาการต่อสู้ต่าง ๆ มากมาย
ขอบคุณภาพจาก - www.kimono-kyoto.jp
เมื่ออายุได้ 17 ปี (ตอนนั้นเขาสูงถึง 2 เมตร) เบงเคก็ต้องออกจากวัดที่ชุบเลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก (ด้วยเหตุใดไม่แน่ชัด) และได้ไปบำเพ็ญตนฝึกวิชากับพระภูเขาที่เรียกว่า ยามาบูชิ (山伏 Yamabushi) หลังจากนั้น เบงเคก็ได้กลายเป็นพระนอกรีตและมักจะไปปรากฏตัวที่สะพานโกโจ คอยปล้นทหารและซามูไรที่ผ่านสถานที่นี้เพื่อยึดดาบไว้ ส่วนสาเหตุที่ต้องมาดักปล้นดาบนั้น บางตำนานอ้างว่าเบงเคได้รับการบอกกล่าวจากพระนักบวชว่า หากรวบรวมดาบได้ครบ 1,000 เล่มจะทำให้ฆ่าตัวตายได้และหลุดพ้นจากความทุกข์ ซึ่งตัวเขาเองพยายามจะฆ่าตัวตายตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากน้อยใจที่เป็นลูกกำพร้าและมีแต่คนล้อว่าเป็นลูกยักษ์ แต่ก็ไม่เคยฆ่าตัวตายได้สำเร็จ
ขอบคุณภาพจาก - bakumatsu.org
ข่าวการปล้นดาบของเบงเคที่สะพานโกโจโด่งดังไปทั่ว ผู้คนต่างไม่กล้าย่างกลายเข้าไปในบริเวณนั้น บางครั้งก็มีนักรบหรือซามูไรที่อยากต่อสู้กับเบงเคไปดักพบ และเมื่อได้ประมือกันก็เป็นอันต้องพ่ายแพ้ทุกคนไป เบงเคสามารถรวบรวมดาบจากการปล้นได้แล้ว 999 เล่ม เหลืออีกเพียงเล่มเดียวก็จะครบตามที่ตั้งใจไว้ จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จ เพราะดาบเล่มสุดท้ายที่ต้องการเขาได้พ่ายแพ้ให้กับ มินาโมโตะ โนะ โยชิทสึเนะ (源 義経 Minamoto no Yoshitsune) ทายาทของตระกูลเกนจิ ซึ่งปลอมตัวเป็นหญิงสาวแล้วมาขอต่อสู้ด้วย โยชิทสึเนะตัวเล็กกว่าเบงเคพอสมควร แต่ใช้ความคล่องแคล่วและว่องไวให้เป็นประโยชน์จนสามารถเอาชนะได้ในที่สุด หลังจากสู้กันเสร็จ ทั้งสองคนก็ได้พูดคุยกัน และเขาเกิดความรู้สึกประทับใจในตัวโยชิทสึเนะเป็นอย่างมาก จึงขอเป็นลูกน้องและติดตามไปด้วย จากนั้นมา เบงเคก็ได้กลายเป็นขุนพลคู่ใจของโยชิทสึเนะและได้ร่วมรบในสงครามต่าง ๆ หลายสมรภูมิ
ภาพการรบร่วมกันระหว่างโยชิทสึเนะและเบงเค
ขอบคุณภาพจาก - www.geocities.jp
นอกจากชื่อเสียงของโยชิทสึเนะในการรบแต่ละครั้งจะโด่งดังไปทั่วแล้ว เบงเคก็พลอยโด่งดังไม่แพ้กัน แต่ความโด่งดังนี้ก็นำภัยมาให้เช่นเดียวกัน เพราะ มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ (源 頼朝 Minamoto no Yoritomo) พี่น้องต่างมารดาของโยชิทสึเนะเริ่มไม่พอใจกับผลงานที่เกินหน้าเกินตา ประกอบกับโยริโตโมะเองก็โดนคนรอบข้างปลุกปั่น จึงส่งคนไปลอบสังหารบ้างหรือมอบหมายงานที่เสี่ยงต่อชีวิตบ้าง ท้ายที่สุดโยชิทสึเนะและเบงเคก็หนีไปที่เมืองฮิราอิซูมิ และขอความช่วยเหลือจาก ฮิเดฮิระ แห่งแคว้นโอชู ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างดี จนกระทั่งฮิเดฮิระเสียชีวิตลง ฟุจิวาระ โนะ ยาซุฮิระ (藤原泰衡 Fujiwara no Yasuhira) บุตรชายก็ขึ้นปกครองแทน แต่ด้วยเกรงว่าการช่วยเหลือโยชิทสึเนะจะเป็นภัยต่อตนเอง จึงวางแผนสังหารโยชิทสึเนะและเบงเค โดยนำทหารจำนวนมากไปล้อมที่พักของทั้งคู่ เมื่อโยชิทสึเนะรู้ดังนั้นจึงได้ทำพิธีปลิดชีพตนเองโดยการคว้านท้องที่เรียกว่า เซปปุกุ (切腹 Seppuku) โดยในระหว่างพิธี ทหารก็เริ่มยิงธนูเข้ามา เบงเคจึงตัดสินใจยืนขวางไม่หลบหนีไปไหน เพื่อให้เจ้านายของตนประกอบพิธีอย่างสมเกียรติจนเสียชีวิตทั้งยืนโดยมีธนูปักร่างหลายดอก การตายของเบงเคนั้นถูกกล่าวขานกันอย่างมากและถูกเรียกว่า เบงเค โนะ ทาชิโอโจ (弁慶の立往生 Benkei no Tachiojo) ซึ่งแปลว่า การตายอย่างเบงเค
ขอบคุณภาพจาก - azuminokominka.blog136.fc2.com
เกร็ดเพิ่มเติม
• พิธีเซปปุกุเรียกอีกแบบว่า พิธีฮาราคีรี (腹切り Harakiri) แต่คำว่า ฮาราคีรีในญี่ปุ่นถือว่าเป็นคำหยาบและไม่เคารพต่อผู้ทำพิธี โดยอักษรคันจิของทั้ง 2 คำนี้ใช้ตัวเดียวกันเพียงแต่สลับที่เท่านั้น
• หลังจากโยชิทสึเนะเสียชีวิต โยริโตโมะก็ได้นำกองกำลังมากำจัดยาซุฮิระ เนื่องจากต้องการครอบครองแคว้นโอชูนั่นเอง
• มีสำนวนสุภาษิตญี่ปุ่นที่กล่าวถึงเบงเคด้วยก็คือ 弁慶の泣き所 (Benkei no Nakidokoro) แปลว่า จุดอ่อนของเบงเค หรือ จุดร้องไห้ของเบงเค มีที่มาจากการที่แม้ว่าเบงเคจะตัวใหญ่และมีความเข้มแข็งมาก แต่หากถูกตีที่หน้าแข้งก็ยังเจ็บจนทนไม่ได้และร้องออกมา สำนวนนี้จึงมีความหมายเกี่ยวกับหน้าแข้งหรือการบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้ง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ต่อให้แข็งแกร่งยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ย่อมมีจุดอ่อน
ขอบคุณภาพจาก - tohspohaka.exblog.jp
เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press