ประเพณีชมจันทร์
การชมจันทร์ เป็นงานฉลองอันยิ่งใหญ่ของราชสำนักจีนโบราณที่จะจัดขึ้นในคืนฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งประเพณีนี้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 10 การชมจันทร์ครั้งแรกอย่างเป็นทางการมีขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 909 ตามปฏิทินจันทรคติ และจะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หากนับตามปฏิทินสากลจะตรงกับช่วงเดือนกันยายน) โดยเรียกประเพณีชมจันทร์ว่า ทสึกิมิ (月見 tsukimi)
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://www.i-nekko.jp/gyoji/2014-082813.html
ในคืนชมจันทร์จะมีการจัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์เพื่อขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ สำหรับขนมที่นิยมนำมาเซ่นไหว้ เรียกว่า ทสึกิมิ ดังโงะ (月見団子 tsukimi dango) บ้างก็เรียกว่า จูโกยะ ดังโงะ (十五夜団子 jyuugoya dango) ที่หมายถึง ดังโงะในคืนวันที่ 15 ทำจากแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ คล้ายพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ โดยจะจัดเป็นชุด ตั้งแต่ชุดละ 12 ชิ้น (สำหรับปีที่มี 365 วัน) 13 ชิ้น (สำหรับปีที่มี 366 วัน) หรือ 15 ชิ้น (ตามวันขึ้น 15 ค่ำ) นิยมนำมาไหว้พร้อมกับกิ่งซูซูกิ เหล้า และพืชผลที่มีในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เช่น ถั่วแระ เกาลัด เผือก เป็นต้น
ขอบคุณรูปภาพจาก - http://www.yamato-zaidan.or.jp/archives/45526
เมื่อถึงวันไหว้พระจันทร์ คนญี่ปุ่นจะนั่งล้อมรอบเครื่องเซ่นไหว้ บ้างก็เฝ้ามองพระจันทร์และอธิษฐาน บ้างก็เล่าตำนานเกี่ยวกับพระจันทร์ให้ลูกหลานฟัง อย่างเรื่อง คนจากุ โมโนกาตาริ (今昔物語 konjaku monogatari) เรื่องเล่าของกระต่ายที่สละชีวิตเพื่อช่วยชายชรายากจน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเทพที่แปลงกายมาจากดวงจันทร์ หรือเรื่อง ทาเกโทริ โมโนกาตาริ (竹取物語 tagetori monogatari) เรื่องเล่าของเด็กหญิงที่เกิดในปล้องไม้ไผ่แล้วกลับไปเป็นเจ้าหญิงบนดวงจันทร์
ขอบคุณรูปภาพจาก - https://www.city.koto.lg.jp/news/3130/63103/body/IMG_9139-3.jpg
พอช่วงฤดูร้อนอันยาวนานผ่านพ้นไป ท้องฟ้าจะปลอดโปร่งขึ้น ตามความเชื่อของคนญี่ปุ่น เราจะมองเห็นเงากระต่ายที่กำลังตำข้าวเหนียว (โมจิ) อยู่ หากเพื่อน ๆ สนใจ จะลองนั่งจิบชากับขนม แล้วแหงนหน้าทักทายเจ้ากระต่ายในคืนไหว้พระจันทร์ (ปีนี้ตรงกับวันที่ 27 กันยายน 2558) อาจจะได้เห็นพระจันทร์ที่สวยงดงามที่สุดในรอบปีก็ได้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก :
• หนังสือ ส่องวิถีพิธีญี่ปุ่น (สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม)
• หนังสือ 12 เดือนในญี่ปุ่น (สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม)
• http://allabout.co.jp/gm/gc/398217/
ขอบคุณภาพ thumbnail จาก - http://matome.naver.jp
อรวิช ศรีลูกหว้า TPA Press