เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย
ประเพณีที่สำคัญของชาวจีนในช่วงปลายปีก็คือ วันไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ (冬至) หากออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น ตังโจ่ย วันไหว้ขนมบัวลอยจะจัดขึ้นในเดือน 11 ตามปฏิทินจีน แต่ไม่กำหนดวันตายตัว แต่ถ้ายึดตามปฏิทินทางสุริยคติสากลจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี ที่มาของประเพณีดังกล่าวมาจากการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงฤดูหนาวเพื่อให้คุ้มครองสัตว์เลี้ยง และขอพรให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ดี ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งเป็นการขอบคุณสำหรับการดำรงชีวิตอย่างราบรื่นมาอีก 1 ปี หรือใครมีเคราะห์อยู่ก็เชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะทำให้หมดเคราะห์
ขอบคุณภาพจาก - http://searchnow.go2tutor.com/?srchtxt=%E5%86%AC%E8%87%B3&mode=2
ของที่ใช้ในการไหว้ขนมบัวลอย ประกอบด้วย
« กระถางธูป
« เทียนแดง 1 คู่
« ขนมบัวลอย 5 ถ้วย
« ผลไม้ 5 อย่าง
« น้ำชา 5 ถ้วย
« ธูปสำหรับจุดไหว้ คนละ 3 ดอก หรือ 5 ดอก (จำนวนแล้วแต่ความเชื่อตามแต่ละท้องที่)
« กระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องบรรณาการต่าง ๆ
* จำนวนของที่ใช้ในการไหว้อาจปรับเปลี่ยนไปตามความสะดวกและความเชื่อตามแต่ละท้องที่
ขอบคุณภาพจาก - http://www.cmadong.com/board/index.php?topic=5699.4825
ขนมบัวลอยถือเป็นขนมมงคลอีกชนิดหนึ่งของคนจีน สามารถใช้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ได้ เช่น พิธีแต่งงาน เป็นต้น ขนมบัวลอยจะทำจากแป้งข้าวเหนียว ปั้นเป็นก้อนกลม ๆ ต้มกับน้ำตาล มักมี 2 สีคือ สีขาว และ สีแดง ซึ่งเป็นสีมงคลของจีน ภายหลังขนมดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาสูตรการทำเพื่อให้มีรสชาติแปลกใหม่และเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
ขอบคุณภาพจาก - http://news.xinhuanet.com/food/2009-01/06/content_10609684.htm
ในสมัยโบราณชาวจีนเรียกขนมบัวลอยว่า ฝูหยวนจื่อ (浮圆子) 浮 แปลว่า ลอย และ 圆子 แปลว่า ลูกกลม ๆ ต่อมาภายหลังเรียกว่า ทังถวน (汤团) 汤 แปลว่า น้ำแกง ส่วน 团 แปลว่า ทรงกลม หรือเรียกว่า ทังหยวน (汤圆) ซึ่งมีความหมายเหมือนกันและออกเสียงใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น อักษร 团圆 เมื่อรวมกันแล้วมีความหมายว่า การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันของคนในครอบครัว อีกด้วย ในประเทศไทยอาจจะคุ้นเคยกับการเรียกชื่อขนมบัวลอยว่า ขนมอี๋ เนื่องจากเป็นการออกเสียงตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วนั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก - http://tw.gigacircle.com/3260048-1
เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press