ซานาดะ ยุกิมุระ

 

 

 

 

       ตามประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในช่วงสงครามกลางเมือง ซึ่งอยู่ระหว่างปี 1477-1615 หรือที่เรียกว่า ยุคเซงโงกุ (戦国時代 Sengoku-jidai) ในยุคดังกล่าวได้ถือกำเนิดซามูไรที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน บทความนี้ผู้เขียนจะขอพามาทำความรู้จักซามูไรท่านหนึ่งที่มีความสำคัญและได้รับการยกย่องไม่แพ้ซามูไรท่านอื่น ๆ ซึ่งแม้ท้ายที่สุดจะพ่ายแพ้ในสงครามก็ตาม ชื่อของเขาก็คือ ซานาดะ ยุกิมุระ (真田幸村 Sanada Yukimura)

 

 

 

 photo 1_zpsmozgo9mb.jpg

 

ภาพวาด ซานาดะ ยุกิมุระ

ขอบคุณภาพจาก - http://www.avis.ne.jp/~ammonite/sanadake.htm

 

 

 

        ซานาดะ ยุกิมุระ เกิดเมื่อปี 1567 มีชื่อเดิมว่า ซานาดะ โนบุชิเกะ (真田信繁 Sanada Nobushige) เป็นบุตรชายคนที่ 2 ของ ซานาดะ มาซายุกิ ในปี 1575 พี่ชายทั้ง 2 คนของมาซายุกิ (ลุงของยุกิมุระ) ได้เสียชีวิตลงในสมรภูมินางาชิโนะ เป็นผลให้มาซายุกิรับสืบทอดตระกูลซานาดะแทน และได้ย้ายไปอยู่ที่ปราสาทอุเอดะ (上田城 Ueda-jou) ซึ่งยุกิมุระก็ได้ย้ายตามไปด้วยเช่นกัน

 

 

 

 photo 2_zpsn1zlz8px.jpg

 

ซานาดะ ยุกิมุระ จากเกม Sengoku Musou 1

ขอบคุณภาพจาก - http://tc.wangchao.net.cn/baike/detail_829929.html

 

 

 

        ปี 1582 กองทัพของตระกูลซานาดะพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพของตระกูลโอดะ และยอมจำนนต่อ โอดะ โนบุนางะ (織田信長 Oda Nobunaga) แต่ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นเมื่อโนบุนางะถูกทรยศและถูกลอบสังหารที่วัดฮนโน (本能寺 Honno-ji) ดินแดนต่าง ๆ จึงแยกตัวเป็นอิสระ ส่วนตระกูลซานาดะต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางตระกูลที่เข้มแข็งทั้งหลาย ได้แก่ อุเอสึงิ โฮโจ และ โทกุกาวะ ทำให้ตระกูลซานาดะต้องหาพันธมิตรและได้เข้าร่วมกับฝ่าย โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (豊臣秀吉 Toyotomi Hideyoshi) ซึ่งยุกิมุระต้องไปอยู่กับโทโยโทมิในฐานะตัวประกัน แต่ฮิเดโยชิเลี้ยงดูยุกิมุระเป็นอย่างดี จนภายหลังถึงขั้นให้ใช้นามสกุลของตระกูลโทโยโทมิ  ซึ่งมีตำแหน่งของตระกูลเป็นคัมปากุ (関白 kampaku) ซานาดะ ยุกิมุระ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า โทโยโทมิ ซาเอมน โนะ สึเคะ โนบุชิเกะ (豊臣真田左衛門之佐信繁 Toyotomi Sanada Saemon no Suke Nobushige)

 

 

 

 photo 3_zps4hank9ay.jpg

 

ภาพวาด โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ  ผู้ที่เลี้ยงดู ซานาดะ ยุกิมุระ เป็นอย่างดี

และอนุญาติให้ใช้นามสกุล โทโยโทมิ

ขอบคุณภาพจาก - http://www.geocities.jp/naporeon9/hideyosi.htm

 

 

 

        หลังจากปี 1583 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ได้ครอบครองพื้นที่ในประเทศญี่ปุ่นมากมาย เข้ายึดพื้นที่เกาะคิวชูจนสุดเขตฝั่งตะวันตก กำจัดตระกูลโฮโจที่มีอำนาจทางฝั่งตะวันออกและบีบให้ โทกุกาวะ อิเอยาซุ (徳川家康 Tokugawa Ieyasu) ซึ่งเป็นคู่ปรับย้ายไปอยู่ปราสาทเอโดะทางตะวันออกไกล นอกจากนี้ ไดเมียวจากเกาะฮอนชูก็ขอเข้าสวามิภักดิ์ และในที่สุด ฮิเดโยชิก็สามารถรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวได้ ต่อมาก็ได้เปิดศึกกับประเทศเกาหลีเพื่อหวังขยายอาณาเขตครอบครองแต่ก็พ่ายแพ้กลับมาถึง 2 ครั้งด้วยกัน จนกระทั่งในปี 1599 ฮิเดโยชิก็ได้เสียชีวิตลง

 

        ปี 1600 หลังจากที่ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ เสียชีวิตก็เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้นระหว่าง โทกุกาวะ อิเอยาซุ และ อิชิดะ มิทสึนาริ (石田三成 Ishida Mitsunari) ขุนพลผู้จงรักภักดีของฮิเดโยชิ ซึ่งตระกูลซานาดะได้เข้าร่วมด้วย โดยมาซายุกิและยุกิมุระสองพ่อลูกได้เข้าร่วมกับฝ่ายอิชิดะ ส่วนพี่ชายของยุกิมุระที่ชื่อว่า ซานาดะ โนบุยุกิ ไปเข้าร่วมกับฝ่ายโทกุกาวะ แรงจูงใจในการดำเนินการครั้งนี้เกิดจากความเห็นของมาซายุกิและยุกิมุระที่ได้หารือกันและมีความเห็น 2 ประการ ประการแรก การเข้าร่วมฝ่ายที่เป็นรองอย่างอิชิดะ หากชนะสงครามได้ พวกเขาจะได้รับอาณาเขตที่มากขึ้นกว่าเดิมมากและจะมีอำนาจมากขึ้นอีก ประการที่สอง เพื่อความไม่ประมาท ต้องมีคนของตระกูลไปอยู่กับทั้งสองฝ่าย เพื่อกันความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับตระกูลขึ้นและสามารถรักษาตระกูลให้คงอยู่ต่อไป แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์บางท่านให้ความเห็นว่า ที่โนบุยุกิไปเข้าร่วมทัพกับอิเอยาซุ เป็นเพราะโนบุยุกิเป็นลูกเขยของ ฮนดะ ทาดาคัทสึ (本多忠勝 Honda Tadakatsu) สุดยอดขุนพลแห่งโทกุกาวะ

 

        ตระกูลซานาดะไม่สามารถต้านทานกองกำลังของตระกูลโทกุกาวะได้ จึงถอยร่นมายังปราสาทอุเอดะของพวกเขาเอง และมีกำลังพลเหลืออยู่เพียง 2,000 นายเท่านั้น แต่ก็สามารถต้านทานกองทัพโทกุกาวะที่มีไพร่พลถึง 40,000 นายซึ่งบุกมาปิดล้อมปราสาทอุเอดะจนทำให้กองทัพศัตรูบาดเจ็บเป็นจำนวนมากได้ ในที่สุดตระกูลซานาดะก็ต้านไม่ไหวจนพ่ายแพ้และถูกจับกุม หลังสงครามจบลงด้วยชัยชนะของตระกูลโทกุกาวะ ทางด้านอิเอยาซุต้องการประหารคนของตระกูลซานาดะทั้งหมด แต่ด้วยคำขอจากโนบุยุกิ พวกเขาจึงไม่ถูกประหาร แต่ถูกเนรเทศไปยังคุโดยามะ (ภูเขาคุโดะ) ในแคว้นคิอิ และมาซายุกิก็ได้เสียชีวิตที่นั่น

 

 

 

 photo 4_zpsnbttclzg.jpg

 

ขอบคุณภาพจาก

http://www.city.gyoda.lg.jp/41/03/10/bunkazai_itiran/sekigaharakassenzubyoubu.html

 

 

 

        12 ปีต่อมา ตระกูลโทโยโทมิเริ่มรวบรวมโรนินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทำสงครามกับตระกูลโทกุกาวะอีกครั้ง ยุกิมุระได้หลบหนีออกจากคุโดยามะเพื่อเข้าร่วมสงครามและสามารถยึดครองปราสาทโอซาก้าไว้ได้ ต่อมาปราสาทโอซาก้าถูกปิดล้อมจากกองทัพตระกูลโทโยโทมิเพื่อหวังทวงปราสาทคืน ยุกิมุระประจำการป้องกันทางฝั่งใต้ของปราสาทโอซาก้าอันเป็นจุดที่ล่อแหลม และศัตรูก็บุกเข้ามาดังคาด กองทัพขนาด 7,000 นายของยุกิมุระได้ขับไล่กองทัพขนาด 30,000 นายของโทกุกาวะออกไปได้ในที่สุด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ยุกิมุระมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก

 

        อิเอยาซุรู้สึกโมโหจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงยกทัพใหญ่หวังทวงคืนปราสาทโอซาก้าอีกครั้ง ทางฝั่งยุกิมุระตัดสินใจว่าครั้งนี้จะไม่รบแบบตั้งรับแต่จะเดินหน้าบุกไปทำลายทัพใหญ่ของอิเอยาซุ โดยการโจมตีของเขาสามารถทะลุทะลวงไปจนเกือบถึงตัวอิเอยาซุ แต่ด้วยความที่ยุกิมุระฝ่าทัพใหญ่ของอิเอยาซุมา จึงทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส ทนพิษบาดแผลไม่ไหว และเสียชีวิตก่อนจะถึงตัวอิเอยาซุ กล่าวกันว่าอิเอยาซุหวั่นเกรงภาพของยุกิมุระเมื่อตอนรบตราบจนวันสิ้นใจของเขาทีเดียว

 

        ซานาดะ ยุกิมุระ ได้รับการยกย่องจนถึงขั้นเป็นตำนานของซามูไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องเช่นนี้ส่วนใหญ่มากจากความภักดีที่เขามีต่อตระกูลโทโยโทมิ และความเก่งกล้าสามารถทั้งด้านการศึก การวางกลยุทธ์ที่เหนือชั้น จนสามารถใช้ทหารที่มีจำนวนน้อยกว่ามากต้านทานอิเอยาซุได้ แต่หากจะพูดถึงผลงานสำคัญ ๆ และวีรกรรมที่เขาทำไว้ก็ไม่ได้มากมายไปกว่าซามูไรชื่อดังคนอื่นเท่าไรนัก แต่ด้วยภาพลักษณ์ของยุกิมุระก็ถือว่าสูงส่งมากในสายตาของนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง ตรงจุดนี้อาจเพราะเขาเป็นผู้แพ้ด้วยก็เป็นได้ เพราะผู้ชนะในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลายคนมักมีนิสัยโหดเหี้ยม เด็ดขาด รุนแรง ซึ่งคนญี่ปุ่นค่อนข้างจะชอบและชื่นชมฝ่ายแพ้ที่มีคุณธรรมมากกว่า

 

 

 

 photo 5_zpssbj1ztbl.jpg

 

รูปปั้น ซานาดุ ยุกิมุระ บริเวณสถานีรถไฟเมืองอุเอดะ

ขอบคุณภาพจาก

http://tokyoandbeyond.tumblr.com/post/17727553827/statue-of-sanada-yukimura-outside-of-ueda-station

 

 

 photo 6_zpsxggd12ke.jpg

 

ซานาดะ ยุกิมุระ จากมังงะเรื่อง Samurai Deeper Kyo

ขอบคุณภาพจาก

http://arkady.centerblog.net/rub-samurai-deeper-kyo-samurai-vs-demon-.html

 

 

 

เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ TPA Press